โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพิ่งประกาศความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 200 ล้านโดสใน 100 วันแรกนับจากรับตำแหน่งไปเมื่อไม่นานมานี้ วันนี้ THE STANDARD ชวนดูตัวอย่างเว็บไซต์ VaccineFinder หนึ่งในเครื่องมือที่สหรัฐฯ ใช้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการหาสถานที่ฉีดวัคซีน รวมถึงศึกษาข้อจำกัดและบทเรียนที่เกิดขึ้นจากเว็บนี้
เท้าความกันสักเล็กน้อย เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกให้ชาวอเมริกันสามารถหาสถานที่ฉีดวัคซีนใกล้บ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลเด็กบอสตันร่วมกับอีกหลายองค์กร และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ เว็บไซต์นี้ถูกพัฒนาขึ้นจากช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เมื่อปี 2009 ก่อนจะถูกใช้งานต่อมาเพื่อประสานงานการกระจายวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนสำหรับเด็ก กระทั่งการมาถึงของโควิด-19 ทำให้เว็บไซต์นี้ถูกพลิกบทบาทมาเป็นเว็บไซต์หาสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้ โดยการค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนผ่านเว็บไซต์นี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
แต่เดิมเว็บไซต์นี้มีที่อยู่คือ vaccinefinder.org แต่ล่าสุดมีการตั้งเป็นเว็บไซต์ใหม่ภายใต้ที่อยู่ vaccines.org เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ในแต่ละรัฐ หรือแม้แต่กลุ่มประชาชนในสหรัฐฯ เองก็อาจมีการทำเว็บไซต์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยหาวัคซีนเช่นกัน
ขั้นตอนการใช้งานเว็บไซต์นี้ก็คือ เมื่อเริ่มต้นเข้าไปยังเว็บไซต์แล้ว เราสามารถกรอกรหัสไปรษณีย์ของที่พักในสหรัฐฯ ของเรา กำหนดรัศมีการค้นหาในระยะต่างๆ (1, 5, 10, 25, 50 ไมล์) และเลือกชนิดของวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องการค้นหา (ในสหรัฐฯ มีวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งานคือ Moderna, Pfizer-BioNTech และ Johnson and Johnson) ซึ่งสามารถเลือกเพียงชนิดเดียว สองชนิด หรือครบสามชนิดเลยก็ได้ จากนั้นก็กดค้นหา
เมื่อกดค้นหาแล้ว หน้าเว็บจะแสดงผลการค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนตามเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นสถานที่จำพวกร้านยา ร้านค้า สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ และสถานที่ฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมาก (Mass Vaccination Sites) พร้อมแผนที่ระบุพิกัด และบอกว่าสถานที่แต่ละที่ในผลการค้นหานั้นมีวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิดจากทั้งหมดที่เลือกอยู่ ‘ในสต๊อก’ หรือไม่ ซึ่งเราสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดของแต่ละสถานที่ได้
รายละเอียดของสถานที่ฉีดวัคซีนที่ปรากฏจะมีทั้งเบอร์โทรศัพท์ ลิงก์ไปสู่การนำทางไปยังสถานที่นั้น เว็บไซต์ของหน่วยงานหรือองค์กรเจ้าของสถานที่ รวมถึงปุ่มที่สำคัญที่สุดคือ ‘Check Appointment Availability’ หรืออาจแปลได้ว่า ‘ตรวจสอบว่าสามารถนัดหมายได้หรือไม่’ ปุ่มนี้จะนำทางไปสู่หน้าเว็บไซต์สำหรับการทำนัดเพื่อฉีดวัคซีนของหน่วยงานหรือองค์กรเจ้าของสถานที่โดยตรง นั่นหมายถึงเว็บไซต์ VaccineFinder จะไม่ได้มีหน้าที่ในการทำนัดให้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ข้อมูลสต๊อกวัคซีนในเว็บไซต์ก็จะขึ้นอยู่กับการอัปเดตโดยเจ้าของสถานที่เอง และอาจนำมาซึ่งความถูกต้องหรือเป็นปัจจุบันของข้อมูลที่แตกต่างกันระหว่างสถานที่ได้ ซึ่งการระบุว่ามีวัคซีนในสต๊อกนั้น CDC ชี้ว่าจะต้องมีการอัปเดตข้อมูลว่ามีสต๊อกจริงใน 72 ชั่วโมงล่าสุด แต่หากข้อมูลที่อัปเดตชี้ว่าไม่มีสต๊อก หรือไม่มีการอัปเดตในรอบ 72 ชั่วโมง ระบบก็จะแสดงข้อความว่าไม่มีสต๊อก และผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนอาจจะต้องตรวจสอบกับเจ้าของสถานที่เองอีกครั้ง
ระบบของ VaccineFinder ยังมีความสามารถที่จะให้เจ้าของสถานที่ตั้งค่าว่าจะให้สถานที่ของตนปรากฏบนผลการค้นหาหรือไม่ปรากฏได้อีกด้วย และจนถึงตอนนี้ CDC ก็ระบุว่าหากข้อมูลในพื้นที่ใดไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ ประชาชนก็สามารถตรวจสอบกับสำนักงานสาธารณสุขของรัฐต่างๆ ได้โดยตรง
ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเว็บไซต์นี้โดย แคลร์ แฮนแนน ผู้อำนวยการบริหารของ The Association of Immunization Managers ซึ่งเป็นสมาคมของผู้จัดการด้านการให้วัคซีนในสหรัฐฯ ที่ระบุว่า เว็บไซต์นี้อาจไม่ได้ทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้วแม้จะหาสถานที่ได้จากเว็บนี้ พวกเขาก็ต้องไปลุ้นต่ออีกด่านว่าจะสามารถทำนัดได้หรือไม่
ข้อสังเกตดังกล่าวก็คล้ายๆ กับคำให้สัมภาษณ์ที่เราได้จาก ภูมิพัฒน์ บุญยกิตานนท์ นักศึกษาไทยที่มาทำวิจัยในรัฐแมริแลนด์ของสหรัฐฯ รายหนึ่ง ที่บอกกับ THE STANDARD ว่า แม้เขาจะหาสถานที่ฉีดวัคซีนได้จากเว็บไซต์นี้ แต่สุดท้ายเขาก็พบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่ได้เปิดให้มีการฉีดวัคซีนจริง เขาจึงตัดสินใจเข้าไปยังเว็บไซต์ของร้านยาที่ให้บริการฉีดวัคซีนนี้โดยตรงแทน เพราะสามารถทำนัดและยืนยันการฉีดวัคซีนได้ทันที
นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของเครื่องมือที่สหรัฐฯ หยิบยกมาใช้ในการช่วยหาสถานที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนใครที่อยากเห็นเว็บไซต์หรือกลุ่มในสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ที่ประชาชนลงมือทำกันเองเพื่อ ‘ตามหาวัคซีน’ ลองตามไปสำรวจหนึ่งในตัวอย่างของเว็บกลุ่มนี้กันดูได้ที่ https://www.vaccinehunter.org เช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: