“วันนี้เป็นวันที่ดีของอเมริกา ในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัสอันยาวนานของพวกเรา”
14 พฤษภาคม 2564 โจ ไบเดน ประธาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศก้องต่อหน้าสื่อมวลชนด้วยรอยยิ้มที่ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากอนามัย
“ในตอนนี้ หลังจากหนึ่งปีของการทำงานอันยากลำบากและการเสียสละที่มากมาย กติกานั้นง่ายมาก ฉีดวัคซีน หรือสวมหน้ากากอนามัยจนกว่าคุณจะได้ฉีด
“ถ้าคุณได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว คุณไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป
“ผมขอพูดซ้ำอีกครั้ง ถ้าคุณฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว คุณไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป แต่ถ้าคุณยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือคุณฉีดวัคซีนที่ต้องฉีด 2 เข็มและคุณเพิ่งฉีดไปเพียงเข็มเดียว หรือฉีดครบ 2 เข็มแต่ยังไม่ได้รอครบ 2 อาทิตย์หลังฉีดวัคซีน คุณยังต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่”
สุนทรพจน์ครั้งสำคัญนี้ราวกับเป็นการประกาศชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้กับไวรัส จากประเทศที่มีจำนวนคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก สู่ประเทศอันดับ 13 ของโลกที่มีสัดส่วนประชากรได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส คิดเป็น 51.3% ของจำนวนประชากรราว 330 ล้านคน การปรากฏตัวโดยปราศจากหน้ากากของผู้นำได้มอบความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าสถานการณ์กำลังจะกลับสู่สภาวะปกติในเร็ววัน
ในสภาวะวิกฤตโรคระบาดเป็นเวลาที่เวลาที่ประชาชนกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวและตื่นตระหนกจากข้อมูลและข่าวสารรอบตัว การสื่อสารของผู้นำจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานของรัฐบาล ที่จะเป็นผู้ประคับประคองประชาชนและประเทศชาติให้ผ่านพ้นคืนวันอันเลวร้ายไปได้ ผู้นำที่ดีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสภาวะความเป็นผู้นำและความสามารถทางวาทศิลป์ ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ วิกฤตครั้งนี้จึงทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารจากผู้นำประเทศได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นอกจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะสามารถสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าพวกเขาจะสามารถรอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้แล้ว การถอดหน้ากาก และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรางวัลของการฉีดวัคซีนอย่างเรียบง่าย ยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนมากขึ้น การสื่อสารของผู้นำ และกลยุทธ์ที่รัฐออกมาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกมารับวัคซีนนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะหยุดวิกฤตการณ์โรคระบาดนี้ลง
แต่ละประเทศทั่วโลกมีการรณรงค์และออกนโยบายสนับสนุนการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันไป เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่พบว่าอัตราการฉีดวัคซีนภายในรัฐมีท่าทีชะลอตัวลง จึงมีการเชิญชวนคนไปฉีดวัคซีนโดยให้สิทธิ์ในการลุ้นเงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ โดยในรัฐแคลิฟอเนียร์สุ่มแจกเงินรางวัลรวมทั้งหมด 3.6 พันล้านบาท และรัฐโอไฮโอสุ่มแจกเงินรวม 155 ล้านบาท ด้านประเทศเซอร์เบียได้มีการออกนโยบายแจกเงินพลเมืองทุกคนที่เข้ารับวัคซีนโดยไม่ต้องสุ่ม เป็นเงินจำนวน 25 ยูโร หรือราว 900 บาท ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาได้มีการมอบเงินราว 77,000 บาทให้แก่ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นรายที่ 2,000,000 ของประเทศอีกด้วย
ขณะนี้ทุกประเทศต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อโน้มน้าวและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบันสู่การเปิดประเทศและปรับปรุงเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง โดยภารกิจใหญ่ในครั้งนี้ต้องแข่งขันกับเวลา เนื่องจากความล่าช้าไปเพียงวันหรือสองวันอาจจะก่อให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดครั้งใหม่ หรือการสูญเสียที่สร้างผลกระทบมหาศาลขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งตัว
ในปัจจุบันมีประเทศทั้งหมดจำนวน 14 ประเทศ ที่พลเมืองมากกว่า 50% ของประเทศฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม โดยมากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่สาธารณรัฐมอลตา (63.6%) ตามมาด้วยภูฐาน (63.3%) อิสราเอล (60.2%) สหราชอาณาจักร (59.1%) และแคนาดา (58.5%)
สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกสะสม ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2564 ยังอยู่ที่ 3.915% ของประชากรทั้งหมด (หรือเพียง 2,591,372 ราย) นับเป็นอันดับที่ 112 ของโลก ภารกิจการฉีดวัคซีนครั้งนี้จึงเป็นโจทย์ครั้งสำคัญของรัฐบาลและ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะสร้างความเชื่อใจให้ประชาชนเข้ารับฉีดวัคซีน โดยการเร่งนำเข้าวัคซีนให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลาย สร้างความน่าเชื่อถือจากการปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพ และสร้างแรงจูงใจที่ไม่ใช่การบีบบังคับด้วยวาจาที่ขู่เข็ญ อาจจะเป็นประตูด่านแรกในการนำไปสู่ทางออกของประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด-19 ในอนาคต
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: