×

เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

12.05.2021
  • LOADING...
เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ทำไมความเสี่ยง (Risk) ของการป่วยรุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีน้อยขนาดนี้ ยังทำให้หลายคนไม่ยอมสมัครใจไปฉีดวัคซีนอีก คำตอบอยู่ที่ The Possibility Effect หรือพลังของความ ‘อาจจะเกิดขึ้นได้’
  • ด้วยเหตุผลนี้นี่เอง หลายคนจึงเลือกความแน่นอน (Certainty) จากการไม่เสี่ยงดีกว่ากว่า เช่น ถ้าเราไม่ฉีด เราก็ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับผลข้างเคียงของวัคซีนอะไรเลย ให้คนอื่นไปเสี่ยงดีกว่า ส่วนเราก็รอการเกิดขึ้นของ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) แต่ปัญหาก็คือ ถ้าคนทั้งประเทศคิดกันแบบนั้น โอกาสที่คนจะฉีดวัคซีนในจำนวนที่มากพอ (80-95% ของประชากรทั้งหมด) ก็จะลดน้อยลงไปด้วย 
  • เราสามารถทำอะไรได้บ้างในการผลักดันทำให้คนที่ไม่อยากฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีน เพื่อให้ประเทศกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนที่จะมีโรคระบาดนี้ได้เสียที

ถ้าเราเริ่มต้นจากวันที่ผมเขียนบทความนี้ซึ่งก็คือวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 แล้วเราลองย้อนเวลากลับไปเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ในสหราชอาณาจักร (ซึ่งก็มีประเทศอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือรวมกัน) ที่มีประชากรพอๆ กันกับประเทศไทยคือ 65 ล้านคนนั้น จะพบว่าสหราชอาณาจักรมีสถิติของคนติดโควิด-19 มากถึงวันละเกือบ 60,000 คนต่อวัน และมีสถิติของผู้เสียชีวิตถึงวันละเกือบ 2,000 คน ต้องบอกตามตรงว่าเป็นช่วงเวลาที่คนในประเทศทุกคน ซึ่งก็รวมถึงตัวผมและภรรยาที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ รู้สึกหดหู่ใจกันเป็นอย่างมาก

 

แต่พอมาถึงวันนี้ วันที่บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศผ่านทีวีว่า อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเราไม่จำเป็นต้อง Social Distancing กันอีกต่อไป และตั้งแต่วันพรุ่งนี้จะเป็นวันแรกที่เด็กนักเรียนไม่จำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยในห้องเรียนกันอีกต่อไปแล้ว 

 

ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังมีสถิติของคนที่ตรวจเจอโควิด-19 อยู่ประมาณวันละ 2,000 คน แต่สถิติของการเสียชีวิตลดลงมาจาก 2,000 กว่าคนต่อวันจนเกือบจะเท่ากับศูนย์ ผมต้องบอกเลยว่าสภาพจิตใจของคนในประเทศในสหราชอาณาจักรเกือบทุกคนนั้นดีมาก และเราก็คงจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เพราะการร่วมมือร่วมใจของคนทั้งประเทศในการยอมรับการฉีดวัคซีน 

 

เพราะในวันนี้ หลังจากที่มีการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนส่วนใหญ่ โดยเริ่มจากผู้สูงอายุก่อน สหราชอาณาจักรได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชากรไปแล้วถึง 35.4 ล้านคน หรือประมาณ 53% ของคนใน 4 ประเทศทั้งหมด (และมีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้ง 2 เข็มถึง 17.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 27% ของประชากรทั้งหมด)

 

สหราชอาณาจักรจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้รู้ว่า End Game ของโควิด-19 นั้นมีแค่วิธีเดียว คือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด

 

แล้วถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทำไมในเมื่อวันนี้เรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการใช้ได้อย่างแพร่หลายแล้ว ถึงยังมีคนหลายคนในประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่ยอมสมัครใจฉีดวัคซีนอยู่อีก

 

ความกลัวการฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy)

ที่จริงปัญหาของความกลัวการฉีดวัคซีน หรือ Vaccine Hesitancy ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นตอนที่เรามีโรคโควิด-19 แพร่ระบาดนะครับ แต่มันมีมาตั้งนานนมแล้ว ตั้งแต่วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles) และก่อนที่ผมจะเขียนถึงวิธีการดุน หรือ Nudge ให้คนไปรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ผมว่าเรามาทำความเข้าใจที่มาของ Vaccine Hesitancy กันก่อนดีกว่าครับ

 

Vaccine Hesitancy นั้นมาจากความเชื่อที่ว่า วัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกายของเรานั้นมักมาพร้อมกันกับความเสี่ยง (Risk) ไม่ว่าจะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย หรือความเสี่ยงอะไรก็ตามที่มีมูลหรือไม่มีมูลความจริงเลย พูดง่ายๆ ก็คือ Vaccine Hesitancy เกิดขึ้นเพราะเราเชื่อว่าวัคซีนทุกตัวมีความเสี่ยงในการฉีดทั้งนั้น

 

ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง เราต่างรู้ดีว่าไม่ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวไหน โอกาสที่เราจะได้รับผลข้างเคียง หรือ Side Effect เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปวดกล้ามเนื้อ ตัวร้อน หรือเป็นไข้นั้น (ซึ่งตัวผมเองที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ AstraZeneca ไปเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ก็เจอผลข้างเคียงไปถึง 2 วัน) เพราะนั่นเป็นการแสดงว่าตัววัคซีนที่ฉีดเข้าไปในร่างกายของเรากำลังทำงาน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมากเมื่อเทียบกับการที่เราไม่เจอผลข้างเคียงอะไรเลย

 

ส่วนความเสี่ยงที่จะเจอผลข้างเคียงหนักๆ เช่น การเป็นลิ่มเลือด (Blood Clot) นั้น เรียกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ แค่ประมาณ 4:1,000,000 คนเท่านั้น ซึ่งน่าจะพอๆ กับโอกาสที่เราจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1

 

แถมข่าวลือหรือเฟกนิวส์ต่างๆ ที่บอกว่าการฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ดีเอ็นเอของเราเปลี่ยนไป นักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาประกาศแล้วว่าไม่มีมูลความจริง หรือไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับอยู่เลยด้วย

 

แล้วทำไมความเสี่ยง (Risk) ของการป่วยรุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีน้อยขนาดนี้ ยังทำให้หลายคนไม่ยอมสมัครใจไปฉีดวัคซีนอีก

 

คำตอบอยู่ที่ The Possibility Effect หรือพลังของความ ‘อาจจะเกิดขึ้นได้’

 

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านที่เคยอ่านงานเขียนของผมก็คงจะรู้จักงานวิจัยของ แดเนียล คาฮ์นะมัน ในเรื่อง Loss Aversion หรือการที่คนส่วนใหญ่มักกลัวการสูญเสียมากกว่าการได้รับ แต่ในทฤษฎีนี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ (Key Insights) มากกว่านั้น

 

คนส่วนใหญ่มักจะกลัวการสูญเสียกว่าชอบการได้นะครับ แต่ในทฤษฎีที่ว่านี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ (Key Insights) มากกว่าแค่ที่ว่าคนเราเกลียดความสูญเสียมากกว่าที่เราชอบการได้นะครับ นั่นก็คือ

 

 

ถ้าเราดูตามรูปข้างบน จะเห็นได้ว่าผลกระทบของความกลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ต่อการตัดสินใจของคนที่มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง (Risk Behaviour) ถ้าจะบวก (ยอมเสี่ยง) หรือลบ (กลัวการเสี่ยง) ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น คนเรารู้ดีว่าโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีน้อยมากๆ แต่ด้วยความที่โอกาสต่ำเมื่อเทียบกันกับผลลัพธ์ที่เราอาจจะได้มา ความหวังที่เราอาจจะได้รางวัลเยอะๆ จึงทำให้คนเรายอมเสียเงินซื้อลอตเตอรี่ มากกว่าจะเก็บเงินเอาไว้ใช้อย่างอื่น 

 

ในทางกลับกัน โอกาสที่เราจะประสบอุบัติเหตุในชีวิตประจำวันนั้นเป็นความเสี่ยงที่ต่ำ แต่ด้วยความกลัวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นั้น ทำให้คนเรายอมควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อประกันชีวิต ทั้งๆ ที่มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่

 

การอธิบายความกลัวที่คนเรามีต่อผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีเปอร์เซ็นต์ของการเกิดขึ้นต่ำมากๆ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการอธิบายว่าทำไมคนเราถึงยอมซื้อประกันชีวิตนะครับ

 

พูดง่ายๆ ก็คือ Vaccine Hesitancy เกิดขึ้นเพราะความกลัวที่คนเรามีต่อความเสี่ยงที่ 1. มีผลลัพธ์ทางด้านลบที่ยิ่งใหญ่ แต่ 2. มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเกิดการสูญเสียขึ้น แถมการฉีดวัคซีนเป็นอะไรที่คนเราจำเป็นต้องสมัครใจไปฉีดด้วย โอกาสที่คนเราจะกลัวการเสียใจที่มาจากการเลือกด้วยตัวเองก็จะสูงมากกว่าถ้าเราไม่มีทางเลือกอะไรเลย

 

ด้วยเหตุผลนี้นี่เอง หลายคนจึงเลือกความแน่นอน (Certainty) จากการไม่เสี่ยงดีกว่ากว่า เช่น ถ้าเราไม่ฉีด เราก็ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับผลข้างเคียงของวัคซีนอะไรเลย ให้คนอื่นไปเสี่ยงดีกว่า ส่วนเราก็รอการเกิดขึ้นของ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) แต่ปัญหาก็คือ ถ้าคนทั้งประเทศคิดกันแบบนั้น โอกาสที่คนจะฉีดวัคซีนในจำนวนที่มากพอ (80-95% ของประชากรทั้งหมด) ก็จะลดน้อยลงไปด้วย และโอกาสจะเกิด Herd Immunity อย่างรวดเร็วก็แทบไม่มีเลย เพราะอย่าลืมว่าในขณะเดียวกัน เชื้อไวรัสก็กำลังกลายพันธุ์ และอาจทำให้วัคซีนปัจจุบันหมดประสิทธิภาพไปด้วย 

 

แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้างในการผลักดันทำให้คนที่ไม่อยากฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีน เพื่อให้ประเทศกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนที่จะมีโรคระบาดนี้ได้เสียที

 

วิธีการดุน (Nudge) ให้คนไปรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น

 

1. พลังของการกระจายข้อมูลสาธารณะสุขที่ถูกต้อง

จากผลงานวิจัยที่ผมกำลังทำกับ Juliane Wiese นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวอร์วิก เราพบว่าการสุ่ม (Randomise) ให้ข้อมูลสาธารณสุข เช่น บทความที่มีใจความว่า ‘การฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันการเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 ได้เกือบ 100%’ และบทความที่มีใจความว่า ‘ฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยลดการระบาดของโควิด-19 ในชุมชน’ สามารถช่วยลดอัตราความกลัวที่คนเรามีต่อการฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy Rate) ได้ค่อนข้างมากอยู่เหมือนกัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ถูกสุ่มมาเพื่อให้ไม่ได้รับข้อมูลนั้นเลย 

 

พูดง่ายๆ ก็คือ การกระจายข้อมูลทางด้านสาธารณสุขที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลบวกของการฉีดวัคซีนนั้นมีพลังในการเปลี่ยนทัศนคติที่คนมีต่อการฉีดวัคซีนได้จริงๆ ซึ่งพูดตามตรง ผลงานวิจัยของเราชิ้นนี้ไม่น่าจะสร้างความแปลกใจให้กับคนที่ออกนโยบายมากนัก แต่ถึงแม้ว่าจะตรงกับคอมมอนเซนส์ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องน่าแปลกใจอยู่ดีที่ประเทศไทยยังไม่มีการกระจายข้อมูลสาธารณสุขที่ถูกต้องอย่างกว้างขวางเท่าที่เราสามารถจะทำได้

 

2. ผู้นำความคิดเห็น ดารา อินฟลูเอนเซอร์ กับบทบาทสะท้อนแง่ดีของการฉีดวัคซีน

ไม่ใช่แค่ใจความของข้อความสาธารณสุขเท่านั้นที่สำคัญ แต่คนสื่อสารข้อมูลนั้นๆ หรือที่เราเรียกกันว่า Messenger ก็สำคัญ

 

ยกตัวอย่างผลงานวิจัยของผมอีกชิ้นที่ทำกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง พวกเราพบว่าในสหรัฐฯ นั้น กลุ่มคนที่ใส่หน้ากาก (Face Mask) มักจะมองกลุ่มคนที่ไม่ใส่หน้ากากด้วยสายตาที่เกลียดชัง เช่นเดียวกับคนที่ไม่ใส่หน้ากาก พวกเขาก็มองคนในกลุ่มใส่หน้ากากด้วยความเกลียดชังพอๆ กัน 

 

ทั้งนี้ก็เพราะการใส่หรือไม่ใส่หน้ากากนั้นถูกนักการเมืองจากแต่ละพรรค (เดโมแครตและรีพับลิกัน) ในสหรัฐฯ นำมาเป็นประเด็นทางการเมืองในตอนที่เพิ่งจะเริ่มมีการระบาดใหม่ๆ ซึ่งก็ทำให้คนที่เชียร์พรรครีพับลิกันหลายคนไม่ยอมใส่หน้ากาก และเห็นว่าการไม่ใส่หน้ากากนั้นเป็น Identity หรือสัญญาณว่าเขาเชียร์พรรครีพับลิกัน และทำให้พวกเขาต่อต้านการใส่หน้ากากเป็นอย่างมาก

 

พวกผมเชื่อว่าทางออกนี้มีอยู่ทางเดียวก็คือ การให้ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดถึงประโยชน์ของการใส่หน้ากาก เพราะการที่ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดในเรื่องเดียวกัน เป็นการ Depoliticise หรือการทำให้ประเด็นหน้ากากไม่ใช่ประเด็นการเมืองอีกต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือ การที่เห็นคนที่เราเชื่อถือ ที่เราเห็นเป็นผู้นำของเรา หรือแม้แต่เป็นคนที่เราชอบหรือติดตามออกมาพูดถึงประโยชน์ของการใส่หน้ากาก หรือการฉีดวัคซีน จะสามารถช่วยลด Identity ที่เราอาจจะนำไปผูกโยงกับการไม่อยากฉีดวัคซีน และอาจช่วยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนใจของคน และช่วยลดความกลัวที่คนมีต่อการฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพพอสมควร

 

3. การทำให้การไปฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย

“ถ้าเราอยากจะให้คนทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็แค่ทำให้มันง่ายขึ้น” เป็นหนึ่งหลักการหลักของทฤษฎีการดุนนะครับ 

 

ในขณะนี้ คนที่อยากลงทะเบียนฉีดวัคซีนในไทยต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ซึ่งสำหรับคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็นก็อาจเป็นเรื่องยาก แถมวันที่ต้องไปฉีดวัคซีนก็ต้องนั่งรถถ่อไปโรงพยาบาลที่อาจจะไกลจากบ้านตัวเองพอสมควร ด้วยความลำบากที่ต้องฝ่าฟันเพื่อไปฉีดวัคซีนที่ตัวเองอาจจะไม่ค่อยอยากได้ตั้งแต่แรก จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ทำไมหลายคนเลือกจะไม่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกัน

 

มาถึงตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอังกฤษให้คุณผู้อ่านลองพิจารณาดูนะครับ ที่ประเทศอังกฤษที่ผมอาศัยอยู่นี้ ทางรัฐบาลได้ทำการกระจายวัคซีนไปยังแต่ละพื้นที่ในประเทศได้อย่างเป็นระบบดีมากๆ โดยในแต่ละพื้นที่ คนส่วนใหญ่สามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย 

 

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังเปิดคอร์สฝึกฝนอาสาสมัครหลายพันคนให้ฉีดวัคซีนให้กับผู้อื่นเป็น ซึ่งก็ช่วยทำให้มีบุคลากรเพียงพอที่จะเปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงยิม หรือแม้แต่คลินิกชนบทเล็กๆ ในแต่ละพื้นที่ย่อยในประเทศ 

 

โดยส่วนตัวแล้ว ตอนที่ผมฉีดวัคซีนเข็มแรก ผมแค่ต้องเดินออกจากบ้านไปฉีดในสถานที่ใกล้ๆ บ้านเท่านั้น ซึ่งการทำให้การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องง่ายเช่นนี้จะสามารถช่วยทำให้คนตัดสินใจออกไปฉีดวัคซีนได้ง่ายขึ้นนะครับ

 

4. ให้โอกาสบริษัทที่อยากทำความดีให้กับสังคม (Corporate Social Responsibility) มาช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนไปฉีดวัคซีน

อีกวิธีหนึ่งก็คือ การที่รัฐขอความร่วมมือจากฝั่งเอกชนที่อยากจะทำความดีให้กับสังคมออกมาช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนไปฉีดวัคซีน ยกตัวอย่าง บริษัท Krispy Kreme ที่ออกมาประกาศว่าพวกเขาจะแจกโดนัทฟรีให้กับคนที่พิสูจน์ได้ว่าไปฉีดวัคซีนมาเรียบร้อยแล้วทุกวันจนกว่าจะสิ้นปี 2021 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยทำให้คนมีแรงจูงใจอยากจะไปฉีดวัคซีน บวกกับช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีผ่านทาง CSR ให้กับบริษัท Krispy Kreme อีกด้วย (แล้วก็เป็นแคมเปญที่ฮือฮามาก จนมีคนออกมาเขียนลงโซเชียลมีเดียว่า ไม่ว่าจะพูดให้พ่อเขาฟังในเรื่องคุณประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไร พ่อของเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ จนกระทั่งเขาบอกกับพ่อเขาว่า ถ้าพ่อฉีดล่ะก็ พ่อสามารถเอา Vaccination Card ไปรับโดนัทฟรีจาก Krispy Kreme ได้ทุกวันจนถึงสิ้นปีเลยนะ เท่านั้นแหละ พ่อเขาก็ถามเขาว่า แล้วมันต้องลงทะเบียนการฉีดอย่างไรบ้าง)

 

5. ลงโทษสื่อมวลชนที่เห็นแก่ตัว

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นสื่อมวลชนหลายรายที่นำเสนอข่าวของผลข้างเคียงร้ายแรงที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสถิติหรือความน่าจะเกิดขึ้นของผลข้างเคียงนั้นๆ เลย

 

ยกตัวอย่างนะครับ สมมติว่ามีคนฉีดวัคซีน 1,000,000 คน แล้วมี 4 คนที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีน 999,996 คนที่ฉีดแล้วไม่แพ้จะไม่ออกมาเป็นข่าว ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว (Expected Positive Event) แต่คนที่แพ้ยารุนแรง 4 คน ซึ่งคิดเป็นแค่ 0.0004% ของคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด จะเป็นคนที่สื่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่แพ้ยา 4 คนนี้เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้น (Absence of Expected Positive Event) และคนส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้ดีว่าข่าวที่แพร่สะพัดได้ดี ข่าวที่ขายดีที่สุด และสามารถทำเงินให้กับสื่อมากที่สุด ก็คือข่าวเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น

 

ผมเชื่อว่านี่เป็นปัญหาของวงการสื่อมาช้านานแล้ว และวิธีแก้ก็อาจจะมีอยู่หนทางเดียวก็คือ การที่สังคมเริ่มทำประณาม เริ่มทำ Fact Check สำหรับสื่อที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้

 

ที่จริงยังมีวิธีที่สร้างสรรค์อยู่อีกหลายวิธี แต่ผมขอฝากเอาไว้แค่ 5 วิธีนี้ก่อนนะครับ 

 

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอให้ทุกท่านไปฉีดวัคซีนกันทุกคนเลยนะครับ อย่ารอดีกว่า เพราะไม่เช่นนั้นเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้อาจจะไม่สามารถจบลงได้เสียทีถ้าเราทุกคนไม่ร่วมมือกันทำให้มันจบนะครับ

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Kahneman, D., 2011. Thinking, fast and slow. Macmillan.
  • Powdthavee, N., Riyanto, Y.E., Wong, E.C., Xiong-Wei, J.Y. and Qi-Yu, C., 2021. When Face Masks Signal Social Identity: Explaining the Deep Face-Mask Divide During the COVID-19 Pandemic (No. yp2jv). Center for Open Science.
  • Wiese, J., and Powdthavee, N. 2021. Individual differences and responses to public health messages aimed at reducing COVID-19 vaccine hesitancy: The case of belief in a just world, mimeo.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising