ช่วงเช้าของวันนี้ (7 มิถุนายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางร่วมเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตน มาตรา 33 โดยกระทรวงแรงงาน ที่สถานีกลางบางซื่อ และสนามกีฬา ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จากการเปิดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในจังหวัดต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ และในส่วนกลาง 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7-26 มิถุนายน 2564 โดยการลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้มีการประกาศย้ำมาตลอดว่าจะมีวัคซีนพร้อมให้ประชาชนฉีดในวันที่ 7 มิถุนายนได้อย่างแน่นอน
แต่ทว่าก่อนหน้านั้นโรงพยาบาลหลายแห่งได้ออกประกาศว่าสามารถให้บริการการฉีดวัคซีนได้เฉพาะวันที่ 7 มิถุนายนเท่านั้น ผู้ที่ลงทะเบียนฉีดในวันที่ 8 มิถุนายนเป็นต้นไปต้องเลื่อนการฉีดออกไปก่อน
บางแห่งก็มีวัคซีนพร้อมฉีดแค่ในวันที่ 7-8 มิถุนายน แต่ไม่พร้อมหลังวันที่ 9 มิถุนายน จนไปถึงบางแห่งที่ไม่สามารถให้บริการในวันที่ 7 มิถุนายนได้ และต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากได้รับการจัดสรรวัคซีนมาในจำนวนที่ไม่เพียงพอ
ประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างมาก ต่อการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขว่าเกิดความขัดข้องอย่างไร จึงไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ทันตามที่นายกรัฐมนตรีและศูนย์บริการสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ให้สัญญาแก่ประชาชนเอาไว้ ซึ่งท่าทีนายกรัฐมนตรีต่อแผนการกระจายวัคซีนล่าสุด คือ จะทยอยจัดสั่งให้ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ของเดือนมิถุนายนนี้
ศบค. ประกาศมั่นใจ วันที่ 7 มิถุนายน มีวัคซีนพร้อมฉีดอย่างแน่นอน
- วันที่ 3 มิถุนายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ทยอยจัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปยังทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าในวันคิกออฟการฉีดวัคซีนพร้อมกันทุกพื้นที่ วันที่ 7 มิถุนายน ตามนโยบายของ ศบค. และนายกรัฐมนตรี จะมีวัคซีนเพียงพอแก่ประชาชนอย่างแน่นอน
โรงพยาบาลหลายแห่งออกประกาศไม่พร้อมฉีดวัคซีน เนื่องจากได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าที่คาด
- ภายในวันเดียวกันและในเวลาต่อมา โรงพยาบาลหลายแห่งได้ทยอยออกประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากได้รับการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เพียงพอ โดยส่วนมากเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดได้ในวันที่ 7-8 มิถุนายน ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านโป่ง เลื่อนฉีดวันที่ 9 มิถุนายน, โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา, โรงพยาบาลนครชัยศรี
- โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดได้ในวันที่ 7 มิถุนายน ได้แก่ โรงพยาบาลเครือบางปะกอกและปิยะเวท, โรงพยาบาลสามพราน จังหวัดนครปฐม, ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงพยาบาลที่เลื่อนการฉีดออกไปโดยไม่มีกำหนด ได้แก่ โรงพยาบาลสันป่าตอง, โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม, โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค, โรงพยาบาลวัฒนา-อุดรธานี
- โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดได้ในระยะเวลาสั้นๆ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (ไม่สามารถให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายนเป็นต้นไป)
ฟังกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องไปฟังโรงพยาบาล
- อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้คำตอบกับผู้สื่อข่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ ในวันที่ 7 มิถุนายน ถึงประเด็นการเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปของแต่ละโรงพยาบาล และกล่าวว่าในตอนนี้ประชาชนสับสนเพราะฟังข่าวหลายทาง แต่ไม่ได้ฟังจากผู้ที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข ปลัดสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่าไม่เคยเลื่อน แต่ละโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาแก้ข่าวว่าไม่มีการเลื่อน ยืนยันมีวัคซีนฉีดตามนัด ใครนัดได้วันไหนก็มีวัคซีนฉีดวันนั้น
นายกรัฐมนตรีย้ำ ทุกคนได้ฉีดแน่นอนไม่ว่าจะลงทะเบียนที่ไหนก็ตาม
- “ผมย้ำว่าทุกคนได้ฉีดแน่นอนไม่ว่าจะลงทะเบียนที่ไหนก็ตาม ซึ่งวัคซีนก็ทยอยเข้ามาตามลำดับเรื่อยๆ ผมก็ได้รับรายงานจากรองนายกฯ ว่าวัคซีนเข้ามาจำนวนมากในวันนี้ เนื่องจากมียอดจองจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเราก็จะนำวัคซีนที่มีอยู่ค่อยๆ ทยอยฉีดไปก่อน วัคซีนมีไม่มากเท่าคนฉีด มันก็ยากอยู่พอสมควร มันมีปัญหาเพราะคนทั่วโลกต้องการวัคซีนเหมือนกัน ไม่ใช่นายกฯ ไม่ห่วง นายกฯ ก็ห่วงทุกคนนั่นแหละ” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ในเวลา 10:30 น. วันที่ 7 มิถุนายน
ยอดจัดสรรวัคซีนที่ยังคลุมเครือ
- สำหรับยอดการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิถุนายน พบว่า กทม. ได้รับวัคซีนจำนวน 35,000 ขวด (ประมาณ 350,000 โดส) กระจายให้โรงพยาบาล 148 แห่ง โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมในวันที่ 7-13 มิถุนายน จำนวน 180,067 คน คาดว่าจะเพียงพอสำหรับการฉีดทั้งสัปดาห์
- ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ได้รับการจัดสรรวัคซีนที่ลดหลั่นกันไป ตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อแตกต่างกัน เช่น
- นครปฐม ได้รับจัดสรรวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 12,020 โดส แบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca จำนวน 7,500 โดส และวัคซีน Sinovac จำนวน 4,520 โดส ซึ่งสามารถฉีดได้ในวันที่ 7-8 มิถุนายน ส่วนประชาชนที่มีคิวนัดหมายตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นไป เจ้าหน้าที่จะดำเนินการติดต่อเพื่อยืนยันวันนัดหมายใหม่อีกครั้ง
- อุดรธานี ได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca ล็อตแรก 12,000 โดส ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการฉีดในวันที่ 7 มิถุนายน พร้อมระบุว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเปลี่ยนแผนการจัดสรร โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงก่อน เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง ทำให้ จ.อุดรธานี ได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนไว้ และไม่สามารถฉีดวัคซีนล็อตแรกได้ครบทุกคน โปรดติดตามข่าวสารและความคืบหน้าจากทางจังหวัดอีกครั้ง เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม
- นครราชสีมา ได้รับการจัดสรรวัคซีนเดือนมิถุนายน 89,100 โดส แบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca จำนวน 40,500 โดส ซึ่งจะมาในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายน จำนวน 23,600 โดส สัปดาห์ที่ 3 ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน จำนวน 16,900 โดส และวัคซีน Sinovac จำนวน 48,600 โดส จะได้รับการจัดสรรมาช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายน จำนวน 24,300 โดส และสัปดาห์ที่ 4 ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน จำนวน 24,300 โดส คาดว่าจะสามารถให้บริการฉีดได้ทุกวันโดยไม่มีเลื่อน พร้อมมีการจัดสรรคิวใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ
- ก่อนหน้านี้ 4 มิถุนายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงถึงการจัดสรรวัคซีนว่า แผนการกระจายวัคซีนในเดือนมิถุนายนนี้จะพยายามกระจายให้ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยจะมีการทบทวนเป็นระยะๆ “ขณะนี้เรามีวัคซีนอยู่ในมือที่เราจะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป จำนวน 3,540,000 โดส ก็จะกระจายไปจังหวัดต่างๆ ส่วนสัปดาห์ถัดไปก็จะมีวัคซีนเข้ามาอย่างน้อยอีก 840,000 โดส และสัปดาห์ที่สี่อีก 2,580,000 โดส อันนี้เป็นตัวเลขที่มีการตกลงเบื้องต้น อาจเพิ่มลดตามกำลังผลิต ณ ตอนนั้น” นพ.โอภาสกล่าว
- ทั้งนี้ จะมีการกระจายวัคซีนโดยแบ่งตามนโยบาย ดังนี้
- กระจายแต่ละยี่ห้อในแต่ละจังหวัดเฉลี่ยเป็นพื้นฐานตามประชากรในจังหวัดนั้นๆ รวมประชากรแฝงด้วย
- พิจารณาตามสถานการณ์การระบาดในพื้นที่นั้นๆ เช่น กรุงเทพฯ, เพชรบุรี และปริมณฑล
- กลุ่มเป้าหมายที่มีการระบาด เช่น เรือนจำ
- จังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ, จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต
- กลุ่มแรงงานที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, ชายแดน
- กลุ่มแรงงานผู้ประกันตน โดยมอบหมายสำนักงานประกันสังคมจัดสรรวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดสฉีดให้ผู้ประกันตัว
- ผู้ที่ขึ้นทะเบียนจองในระบบหมอพร้อม ซึ่งจะไม่มีการเลื่อน
- หลังจากดีเดย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 7 มิถุนายนไปแล้ว ต้องจับตามองว่าจะมีการจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้นหรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามการประกาศนัดหมายการฉีดวัคซีนในพื้นที่ หรือจุดฉีดวัคซีนที่ได้ลงทะเบียนไว้อย่างต่อเนื่องก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามแผนที่วางไว้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: