×

หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค – มองบวกต่อการประมูลพลังงานหมุนเวียนรอบสอง

10.09.2024
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) รอบสอง กำลังการผลิตรวม 3,668MW แบ่งเป็น โซลาร์บนพื้นดิน พลังงานลม ขยะอุตสาหกรรม และก๊าซชีวภาพ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 โดยบอร์ด กกพ. มีการหารือระเบียบต่างๆ รวมทั้งรวบรวมความคิดเห็นหลังจากเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนไปแล้วเมื่อวันที่ 14-20 สิงหาคม 2567 เบื้องต้นคาดว่าหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะออกมาช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567

 

สำหรับมติ กบง. ดังกล่าว จะให้สิทธิสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์รอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรก ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมรวมไม่เกิน 600MW และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินไม่เกิน 1,580MW รวมปริมาณไฟฟ้า 2,180MW ในกลุ่มนี้จะเป็นโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์แล้ว แต่ได้คะแนนน้อยจึงไม่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ดังนั้น กกพ. จะเรียกผู้ประกอบการมายืนยันความพร้อมว่าจะเข้าร่วมโครงการพลังงานหมุนเวียนรอบสองหรือไม่ ส่วนโควตาที่เหลืออีก 1,488MW ให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

 

InnovestX Research คาดว่าการประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบสองจะส่งผลดีต่อกลุ่มสาธารณูปโภคของไทยในระยะกลางถึงระยะยาว แผนใหม่นี้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศไทย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม และสามารถควบคุมดูแลได้อย่างใกล้ชิดมากกว่าโครงการต่างประเทศ

 

เมื่ออิงกับการประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก กำลังการผลิต 5.2GW ในปี 2566 GULF ชนะประมูลโครงการในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิต 2.4GW: โซลาร์ฟาร์ม 870MW, โซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) 1,526MW และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทย 20MW

 

GUNKUL ชนะการประมูล 832.4MWe: โซลาร์ 568.8MW, โซลาร์ 83.6MW + BESS และพลังงานลม 180MW และ BGRIM ชนะการประมูล 161.3MW: โซลาร์ 145.3MW และพลังงานลม 16MW เกณฑ์ใหม่ที่ให้สิทธิสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกจะส่งผลดีต่อ GPSC

 

นอกจากนี้ คาดว่าการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT รอบสองจะคล้ายกับรอบแรกในปี 2566 โดยกำหนด FiT ในอัตราคงที่ที่ 2.17 บาทต่อ kWh สำหรับโซลาร์ฟาร์ม และ 3.10 บาทต่อ kWh สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยประเมินต้นทุนการลงทุนได้ที่ 25 ล้านบาทต่อ MW สำหรับโซลาร์ฟาร์ม และ 60 ล้านบาทต่อ MW สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น (EIRR) ที่ประเมินได้สำหรับโซลาร์ฟาร์มอยู่ที่ 10% และโรงไฟฟ้าพลังงานลมอยู่ที่ 9.5%

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทแต่ละแห่งยังมีปัจจัยผันแปร เช่น ต้นทุนทางการเงิน การบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงาน และการจัดซื้อ/จัดหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ EIRR ของแต่ละโครงการ

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (SET ENERG) ปรับขึ้น 8.85% ราคาหุ้น GULF ปรับขึ้น 17.4% ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 10.1%

 

กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:

 

InnovestX Research เลือก GULF เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มสาธารณูปโภค โดยคงคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือน ไว้ที่ Outperform ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่บริษัทจะชนะการประมูลโครงการบางส่วน ทั้งในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบสอง และแผน PDP 2024 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

 

และคาดว่า GULF จะมีกำไรที่แข็งแกร่ง 2H67 จากการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ GPD และ HKP เต็มไตรมาส รวมถึงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามแผนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และโครงการโซลาร์รูฟท็อป กำลังการผลิตรวม 605MW ใน 2H67

 

สำหรับ GPSC และ BGRIM คงคำแนะนำ NEUTRAL แม้คาดว่ากำไร 2H67 อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนก๊าซที่สูงขึ้น HoH: ราคา Pool Gas เพิ่มขึ้น 4.1% MoM มาอยู่ที่ 321.844 บาทต่อล้านบีทียูในเดือนกรกฎาคม 2567 จาก 309.0391 บาทต่อล้านบีทียูในเดือนมิถุนายน 2567 อย่างไรก็ตาม มี Sentiment เชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มที่ต้นทุนก๊าซจะสูงขึ้นใน 3Q67 ซึ่งเป็นผลมาจากราคา LNG ที่สูงในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการ Trading คาดว่า GPSC จะให้ผลตอบแทนดีในระยะสั้น เนื่องจากคาดว่าบริษัทจะชนะการประมูลพลังงานหมุนเวียนในรอบสองมากกว่ารอบแรก

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ต้นทุนก๊าซสูงกว่าคาด ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การบริหารจัดการพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X