×

มหากาพย์ปม ‘ย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ’ จะจบลงอย่างไร

31.10.2023
  • LOADING...
อุเทนถวาย
  1. เป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมายาวนานระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ ‘อุเทนถวาย’ และ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จนกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักศึกษาศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกกว่า 100 คน รวมตัวกันคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่ พร้อมอ่านแถลงการณ์ขอความเห็นใจไปยัง ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

 

  1. ที่ผ่านมาศุภมาสเป็นประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่จุฬาฯ

 

  1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เดิมมีชื่อว่าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตั้งอยู่บนถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

 

  1. ขณะที่ปมปัญหาที่ดินมีมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ของจุฬาฯ ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวายจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวาที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปีตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา ซึ่งจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เป็นผล

 

  1. ต่อมาจุฬาฯ ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ในปี 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ตำบลบางปิ้ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท

 

  1. ปี 2548 อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า

 

  1. ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)’ 

 

  1. ระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง เพื่อขอไม่ให้มีการย้ายออกจากพื้นที่เดิม

 

  1. ปี 2552 กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ รวมทั้งชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ 

 

  1. ผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

 

  1. ในเดือนธันวาคม ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง ซึ่งปัญหานี้ยังเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน 

 

  1. ผ่านมาหลายรัฐบาล ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ จนเปลี่ยนจากรัฐบาลประยุทธ์มาสู่รัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมี ศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) คนใหม่ ที่ต้องเจอกับประเด็นร้อนดังกล่าว รวมถึงต้องหาทางออกที่ Win-Win ให้กับทั้งสองฝ่าย

 

  1. ล่าสุดวันนี้ (31 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ศุภมาสอัปเดตรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้ว่า ตัวแทนศิษย์ปัจจุบันได้ยื่นหนังสือเพื่อขอร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อช่วยดูแลกรณีอุเทนถวาย 

 

  1. รมว.อว. คาดว่าจะเริ่มประชุมคณะกรรมการชุดนี้ได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาส่งตัวแทนเข้าร่วม พร้อมระบุว่า “ทางอุเทนถวายได้ให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ว่าจะไม่ฟังอะไรเลย และยินดีให้ความร่วมมือ รวมทั้งขอให้ความเป็นธรรมกับอุเทนถวายด้วย” 

 

  1. ศุภมาสยืนยันว่าตนจะเป็นคนกลาง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งในทางกฎหมายมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว แต่ก็ต้องยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลางด้วย เรื่องการเยียวยานักศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะอุเทนถวายถือเป็นสถาบันเก่าแก่ มีองค์พระวิษณุเป็นที่เคารพ และมีอาคารเก่า หากต้องขยับขยายจึงต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร

 

  1. ศุภมาสยังระบุด้วยว่า ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนอุเทนถวายเมื่อวานนี้ และการชุมนุมของนักศึกษาก็เป็นไปด้วยความสงบ ไม่ได้ลงมาบนถนน ยืนยันว่ากระทรวงฯ พร้อมที่จะประสานให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี และจากท่าทีของนักศึกษาอุเทนถวายก็ไม่ได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทุกคนพูดคุยด้วยเหตุผล

 

  1. โจทย์ใหญ่ของอุเทนถวาย นอกจากต้องการรักษาพื้นที่ของตัวเอง ยังมีโจทย์คู่ขนานที่ต้องยืนยันต่อสังคมด้วยว่า ปัญหาแบบในอดีตจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก 

 

  1. บทสรุปของมหากาพย์ระหว่าง ‘อุเทนถวาย’ และ ‘จุฬาฯ’ จะจบลงอย่างไร คงต้องรอดูว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันหาทางออกแบบไหน ขณะเดียวกันยังเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของ รมว.อว. คนใหม่ ที่เชื่อว่าหากทำได้จะกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ถูกจดจำ  

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X