เป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมายาวนานระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ ‘อุเทนถวาย’ กับ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จนกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้กลุ่มนักศึกษาศิษย์ปัจจุบันของอุเทนถวายตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกกว่า 100 คน รวมตัวกันคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่ พร้อมอ่านแถลงการณ์ขอความเห็นใจไปยัง ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่จุฬาฯ
ต้องคำนึงกฎหมายควบคู่ความรู้สึก
ล่าสุดวันนี้ (17 ธันวาคม) ศุภมาสกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาหาข้อยุติ หลังศาลปกครองมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วัน ว่า วานนี้ (16 พฤศจิกายน) มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายในการหาข้อยุติ โดยมีตัวแทนจากอุเทนถวาย, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรมธนารักษ์, สำนักงบประมาณ และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องนี้เป็นภารกิจของกระทรวง อว. ในการแก้ไข
โดยที่ประชุมเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะทุกฝ่าย ยืนยันว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ไม่ได้เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง
ศุภมาสระบุว่า มีการเสนอให้ไปศึกษาข้อเสนอในที่ประชุมว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การประชุมครั้งต่อไปมีข้อสรุป หลังจากนั้นจุฬาฯ ก็ไปศึกษาร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
“ยอมรับว่านักศึกษาอุเทนถวายต้องการความชัดเจนและมีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันก่อนหน้านี้ จึงทำให้ครั้งนี้หากมีการตกลงยุติไปแล้วอาจไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันอีก ซึ่งหลายคนกังวลว่าก่อนที่ตนเองจะเรียนจบจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหากต้องย้ายจะไปอยู่ที่ไหน และมีใครเข้ามาดูแล เนื่องจากหลายคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกัน จึงเกิดข้อกังวล” ศุภมาสกล่าว
เมื่อถามว่าได้วางกรอบไทม์ไลน์เจรจาไว้หรือไม่ ศุภมาสกล่าวว่า การเจรจาหาข้อยุติไม่สามารถไปวางกรอบหรือไทม์ไลน์เพื่อหาข้อยุติได้ เพราะอาจจะไปเพิ่มอารมณ์ความรุนแรง เพียงแต่ทุกคนอยากได้ข้อยุติที่ดีและเร็วที่สุด
เมื่อถามถึงประเด็นที่ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วแต่มาสนับสนุนให้ศิษย์ปัจจุบันออกมาเคลื่อนไหวนั้น ศุภมาสมองว่า ในวงหารือวานนี้ก็มีศิษย์เก่ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งได้มีข้อเสนอว่าเมื่อปัญหายังคาราคาซังแบบนี้ จึงอยากรับฟังจากอุเทนถวายว่าต้องการอะไรบ้าง และทางจุฬาฯ สามารถสนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างไรได้บ้าง
มีความระแวงกลัวเอาพื้นที่ไปใช้เชิงพาณิชย์
“มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าอุเทนถวายเห็นภาพชัดว่าเมื่อทางจุฬาฯ ได้ที่คืนไปแล้วไม่ได้เอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่เอาไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ อาจจะเป็นสวนสาธารณะ หรือพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กเพื่อการศึกษาเหมือนกับหอศิลป์ฯ ใน กทม. แบบนี้อาจเป็นข้อเสนอใหม่ที่ทางอุเทนถวายสามารถพิจารณาได้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี” ศุภมาสกล่าว
เมื่อถามอีกว่า ปัญหานี้จะสามารถจบได้ในยุคนี้หรือไม่ ศุภมาสกล่าวว่า ปัญหานี้มีมานานแล้ว คงไม่ใช่ใช้คำว่าจบ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ และบังเอิญว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดมา ซึ่งมีการฟ้องร้องกันมาเรื่อยๆ ยุคนี้ทุกฝ่ายต้องถือเอากฎหมายสูงสุด เพียงแต่ไม่สามารถยึดหลักกฎหมายอย่างเดียวได้ แต่ต้องยึดหลักความสงบเรียบร้อย และต้องดูแลความรู้สึกของบุคลากรทุกคนในอุเทนถวายด้วย เพราะเราคงไม่อยากเห็นสถาบันที่ร่ำเรียนมาหายไปในชั่วข้ามคืน ดังนั้น เรื่องความรู้สึกของคนเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องของหลักกฎหมาย จึงต้องเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยสมัครใจและทุกคนเห็นตรงกัน
ย้อนประวัติ ‘อุเทนถวาย’
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เดิมมีชื่อว่าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตั้งอยู่บนถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
ปมปัญหาที่ดินระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาฯ จะจบอย่างไร
ขณะที่ปมปัญหาที่ดินมีมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ของจุฬาฯ ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวายจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา ซึ่งจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เป็นผล
ต่อมาจุฬาฯ ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ในปี 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท
ปี 2548 อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า
ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้ง ‘คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)’
ระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง เพื่อขอไม่ให้มีการย้ายออกจากพื้นที่เดิม
ปี 2552 กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ รวมทั้งชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด
ในเดือนธันวาคม ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง ซึ่งปัญหานี้ยังเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: