×

ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. ปรับดีขึ้นสูงสุดรอบ 5 เดือน แนะรัฐเร่งอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปี

04.11.2021
  • LOADING...
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เป็นการปรับตัวดีขึ้นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับดีที่สุดในรอบ 5 เดือนนับจากเดือนพฤษภาคม 2564 

 

โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 43.9 เพิ่มจาก 41.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 27.3 เพิ่มจาก 25.5 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 51.7 เพิ่มจาก 48.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 37.8 ปรับตัวจาก 35.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 40.3 เพิ่มจาก 37.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 53.5 เพิ่มจาก 50.8 

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นมาจาก ศบค. ได้ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในสถานประกอบการบางแห่งเปิดกิจการได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการขยายระยะเวลาเคอร์ฟิว ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศก็เริ่มมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการอัดฉีดเงินราว 1 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบผ่านโครงการคนละครึ่งในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ได้แก่ การส่งออกที่ขยายตัวได้ราว 15% ราคาพืชผลเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลังที่ปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง 1.6 บาทต่อลิตร และดัชนี SET Index ที่เพิ่มขึ้น 17.75 จุด

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่กดดันการฟื้นตัวความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ยังคงมีอยู่ ประกอบด้วย ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง ราคาน้ำมันขายปลีกที่ยังอยู่ในระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

 

“ปัจจัยลบตัวสำคัญคือการที่ประชาชนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลออยู่ รายได้ของเขายังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐและการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ภายใต้เพดาน 30 บาทต่อลิตรจะยังมีความจำเป็น” ธนวรรธน์กล่าว

 

ธนวรรธน์กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ แต่จะเห็นว่ายังคงในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งตัวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่ว่ายังไม่ดี ดังนั้นภาครัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงครึ่งปีแรกของปี 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นให้กลับสู่ระดับปกติ 

 

โดยหอการค้าเสนอให้ภาครัฐกระตุ้นผ่านมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจมีเม็ดเงินหมุนเวียนในปลายปีนี้กลับมาคึกคักมากขึ้น และต่อเนื่องไปยังปีหน้าได้ โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ควรใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

“ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา GDP ไทยขยายตัวได้ประมาณ 2% แต่ในไตรมาส 3 เราคาดว่าจะติดลบ 3-4% ดังนั้นการกระตุ้นในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียงใด ซึ่งจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและการอัดฉีดเงินมาตรการภาครัฐต่างๆ เราคาดว่า GDP ไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ 4-5% ทำให้ภาพรวมทั้งปี GDP จะโตราว 1-1.5%” ธนวรรธน์กล่าว

 

ธนวรรธน์กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ระหว่างติดตามตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ โดยคาดว่าหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 3 แสนคนภายในเดือนธันวาคม จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินสะพัดเพิ่มเติมในระบบราว 1-2 หมื่นล้านบาท และหากภาครัฐนำมาตรการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดเพิ่มเติมได้อีก 3-4 หมื่นล้านบาท 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X