ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ และความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 14-23 ธันวาคมที่ผ่านมา จำนวน 1,244 ตัวอย่าง โดยพบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า บรรยากาศขึ้นปีใหม่ 2565 ไม่คึกคัก ขณะที่ 33% เชื่อว่าจะคึกคักเท่าปีก่อน โดยมีเพียง 17% ที่ระบุว่าจะคึกคักกว่าเดิม
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ผลสำรวจที่ออกมาสะท้อนถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ประชาชนยังมีความวิตกต่อความรุนแรงของการระบาดของโอไมครอนทั่วโลกรวมถึงในไทย ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงของไทย
โดยการสำรวจยังพบด้วยว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจะอยู่บ้าน ลดการออกไปทำกิจกรรมหรือรับประทานอาหารนอกบ้าน ยกเลิกหรือลดการเดินทางระยะไกลในช่วงเทศกาลปีใหม่ และส่วนใหญ่ยังมีการใช้จ่ายผ่านสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวลดลง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายในช่วงดังกล่าวทั่วประเทศอยู่ที่ 85,796 ล้านบาท ติดลบ 6.2% จากปีก่อนหน้า โดยแยกเป็นเงินสะพัดในกรุงเทพฯ 35,176 ล้านบาท ต่างจังหวัดรวมกัน 50,619 ล้านบาท
ธนวรรธน์กล่าวว่า ปริมาณเม็ดเงินสะพัดดังกล่าวเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าคาด เนื่องจากก่อนหน้านี้ศูนย์พยากรณ์ฯ เคยมองว่าผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและคลายล็อกมาตรการของภาครัฐ รวมถึงการเปิดประเทศ เปิดรับนักท่องเที่ยว และจัดเคานต์ดาวน์ จะกระตุ้นการใช้จ่ายและการเดินทางจนเกิดเงินสะพัดได้ 1.3 แสนล้านบาท แต่ความกังวลจากการแพร่ระบาดของโอไมครอนทำให้ตัวเลขหดลงจนเหลือแค่ 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติมูลค่าต่ำสุดในรอบ 12 ปีนับจากปี 2554
ขณะเดียวกัน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังเปิดเผยผลสำรวจประเด็นที่ประชาชนมีความกังวล และมองว่าน่าห่วงในปี 2565 โดยพบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ การเมือง ราคาน้ำมัน และการแพร่ระบาดของโควิด เป็นสิ่งที่ประชาชนมีความกังวลสูงสุด
โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 50% ระบุว่า เศรษฐกิจโดยรวมในปี 2565 จะแย่ลง และเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% โดยเสนอให้รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพ เช่น ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ยกเว้นภาษี ลดค่าสาธารณูปโภค ควบคุมราคาสินค้า ลดภาษี รวมถึงเข้าถึงแหล่งกู้ดอกเบี้ยต่ำ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังตอบว่า ยอมรับได้หากภาครัฐตัดสินใจงดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชั่วคราวในกรณีที่โอไมครอนระบาดรุนแรง
ธนวรรธน์ระบุว่า ขณะนี้โอไมครอนทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจไปแล้ว 3-5 หมื่นล้านบาทจากการยกเลิกจัดกิจกรรม และการเดินทางของประชาชนที่ลดลง ทั้งนี้ หากสถานการณ์บานปลายไปจนถึงขั้นต้องล็อกดาวน์ปิดประเทศ จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จากเดิมที่คาดไว้ 5-6 ล้านคน ใช้จ่าย 2-3 แสนล้านบาท จะลดเหลือ 3 ล้านคน ใช้จ่ายเหลือ 1-1.5 แสน คิดเป็นสัดส่วน GDP ราว 1% ซึ่งอาจทำให้ GDP ไทยในปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4-4.5% ลดลงเหลือ 3%