×
SCB Omnibus Fund 2024

ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. 64 แตะ 40.9 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ คาด GDP ปีนี้อาจติดลบถึง 4% หากต้องล็อกดาวน์เพิ่มเดือน ก.ย.

05.08.2021
  • LOADING...
Consumer Confidence Index

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ Consumer Confidence Index (CCI) เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพบว่า ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.9 จุด จาก 43.1 จุดในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา

 

ขณะที่การสำรวจดัชนีอื่นๆ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 35.3 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 38.0 จุด และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.6 จุด โดยดัชนีเกือบทุกรายการปรับลดลงเมื่อเทียบกับในเดือนมิถุนายน 2564 และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งเริ่มทำการสำรวจมา

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง คือตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 15,000 รายต่อวัน และการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจประมาณ 60% ของ​ GDP ซึ่งส่งผลเชิงจิตวิทยาต่ออารมณ์การใช้จ่ายของประชาชนในภาวะที่การฉีดวัคซีนยังล่าช้า

 

“เราประเมินว่าการล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เนื่องจากในภาวะปกติการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศจะอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่ภายใต้ล็อกดาวน์การใช้จ่ายจะลดลงเหลือ 1 ใน 3 คิดเป็นความเสียหายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 7 พันล้านบาท” ธนวรรธน์กล่าว

 

ธนวรรธน์ระบุอีกว่า เมื่อพิจารณาจากการขยายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัดล่าสุดของภาครัฐ ทำให้เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทในเดือนสิงหาคมจะปรับลดลงทำลายสถิติได้อีก โดยศูนย์พยากรณ์ประเมินว่าความเสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนสิงหาคมจะอยู่ที่ 3.5-4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมตามพื้นที่ได้รับผลกระทบที่เพิ่มขึ้น

 

“ภายในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดนี้จะครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจประมาณ 80% ของ GDP ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมประมาณ 90% และครอบคลุมระบบโลจิสติกส์ประมาณ 80% ของประเทศ ทำให้ความเสียหายจะสูงกว่าการล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคม” ธนวรรธน์กล่าว

 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า หากรวมผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเข้าด้วยกัน จะคิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ด้วยเหตุนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจจึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเติบโต 0-1% เป็นติดลบ 2-0%

 

โดยตัวเลขคาดการณ์ GDP ที่ติดลบ 2-0% คำนวณจากสมมติฐานที่สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายในเดือนกันยายนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่หากไทยยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเดือนกันยายน และต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่ออีกหนึ่งเดือน GDP จะยิ่งแย่ลงกว่าเดิมเป็นติดลบ 2-4%

 

อย่างไรก็ดีในกรณีที่คุมควบสถานการณ์ได้ในเดือนกันยายน และภาครัฐมีการเร่งอัดฉีดเงินผ่านมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี GDP อาจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 1%

 

“ณ ตอนนี้เรามองว่าวงเงินกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทไม่น่าจะเพียงพอแล้ว รัฐอาจต้องพิจารณากู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะทำให้ต้องขยายเพดานเงินกู้เพิ่มจาก 60% ของ GDP เป็น 65-70% ของ GDP” ธนวรรธน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising