วันนี้ (21 พฤศจิกายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Model) ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ได้สำเร็จ
ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ ถือเป็นกรอบการดำเนินการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้ภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง และยั่งยืน โดยผ่านความร่วมมือ 4 ด้าน คือ
- การจัดการผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
- การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม
- การอนุรักษ์บริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
- การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
รัชดากล่าวด้วยว่า ผลจากการจัดประชุม APEC ครั้งนี้เป็นโอกาสแสดงศักยภาพของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และสร้างความตื่นตัวแก่คนในสังคมถึงทิศทางการเดินหน้าของประเทศ ในส่วนของภาคเอกชนได้มีการขยายการลงทุนใน BCG ไปแล้ว ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้นวัตกรรม การใช้พลังงานสะอาด การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสินค้ามูลค่าสูง เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง พลังงาน เป็นต้น
ความสำเร็จดังกล่าวบางส่วนได้นำมาเผยแพร่ในงานประชุม APEC ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ BCG ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC
รัชดากล่าวต่อไปว่า ภาคเอกชนชื่นชมและพอใจกับความสำเร็จในการผลักดัน BCG ของรัฐบาล และรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในการเดินหน้าต่อไปให้เกิดผลสำเร็จอย่างกว้างวาง ทั้งนี้ มีการประเมินจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าผลจากการประชุม APEC จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยขยายตัว
โดยเฉพาะการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามมาภายใต้นโยบาย BCG มากกว่า 6 แสนล้านบาท ครอบคลุมทุกกิจกรรมการผลิต เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ป่าไม้ ปศุสัตว์ เหมืองแร่ ก๊าซธรรมชาติ ขนส่ง บริการธุรกิจ ค้าส่งค้าปลีก โรงแรมที่พัก เป็นต้น
รัชดากล่าวอีกว่า รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและในกลุ่ม APEC สำหรับการขับเคลื่อนภายในประเทศ รัฐบาลมีคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน BCG และติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานต่างๆ พร้อมพิจารณาข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ BCG นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมอย่างแท้จริง