วันนี้ (9 เมษายน) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข่าวการยืดเวลารับเงินเยียวยา 5,000 บาท
“จากกรณีที่มีคำถามว่าเหตุใดจึงมีการยืดระยะเวลาให้ผู้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท จากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่าความจริงกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการตั้งกรอบเวลาในการเยียวยาไว้ เนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์
“ดังนั้นในระยะแรกจึงจะมีการเยียวยาในช่วง 3 เดือนก่อน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็สามารถขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้อีกตามความเหมาะสม ในทางกลับกัน หากสถานการณ์จบก่อนก็สามารถยุติการเยียวยาได้เช่นกัน
“อีกเรื่องคือการบริหารจัดการมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น ผมได้กำชับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารกรุงไทยว่าจำเป็นต้องทำอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน แต่ต้องควบคู่ไปกับการจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันที่ 2 ในการทยอยโอนเงินให้กับผู้ผ่านเกณฑ์ตรวจสอบ และจะทยอยจ่ายต่อไปอย่างเร่งด่วน
“ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการเยียวยาได้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนวัยทำงานเป็นหลัก เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ขอย้ำว่าทั้งหมดอยู่ภายใต้คำนิยามว่าต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งจะแยกย่อยไปตามกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่ที่สำคัญต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากภาครัฐตามมาตรการอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
“หากท่านใดสงสัยว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิ์หรือไม่ สามารถสอบถามขอความช่วยเหลือไปที่ Call Center ธนาคารกรุงไทย โทร. 0 2111 1144, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3421, 3422, 3423, 3424, 3425, 3427, 3429, 3430, 3572 (ในวันและเวลาราชการ)
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยึดแนวนโยบายที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมที่สุดภายใต้กรอบงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท หมายความว่าสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางมาตรการหรือวงเงินได้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน
“ทั้งนี้ล่าสุดกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นรายครัวเรือน ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ โดยมุ่งหวังว่าจะครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างที่สุด และประคับประคองเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมกัน”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์