×

พาชมเรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis เกียรติภูมินาวีสหรัฐฯ กับบทบาทผู้พิทักษ์สันติภาพแห่งท้องทะเล

18.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • หลังเสร็จสิ้นภารกิจในอ่าวเปอร์เซีย เรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis ได้มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย และจอดเทียบท่าที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 10-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงที่หลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกส่งทหารมาร่วมฝึก ‘คอบร้าโกลด์ 2019’ กับไทย
  • USS John C. Stennis เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Nimitz เพียงลำเดียวของสหรัฐฯ ที่ตั้งชื่อตามวุฒิสมาชิก โดยผู้ที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดนี้คือ จอห์น ซี. สเตนนิส ส.ว. รัฐมิสซิสซิปปีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 41 ปี ซึ่งเขาทำงานอย่างบากบั่นและอุทิศตนให้กับกิจการของกองทัพเรือ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งกองทัพเรือสมัยใหม่
  • การมาเยือนของเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ สะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับระหว่างสหรัฐฯ กับไทย หลังจากที่รัฐบาลยุค คสช. กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนครั้งแรก นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2014
  • จากโรงเก็บเครื่องบิน (Hangar Bay) สู่สะพานเดินเรือ (Navigation Bridge) และดาดฟ้าบิน (Flight Deck) ชมความยิ่งใหญ่ของเรือบรรทุกเครื่องบินที่ได้ชื่อว่าทรงพลังที่สุดในโลก กับอาณาเขตอธิปไตยขนาด 4.5 เอเคอร์ ที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังน่านน้ำอันไกลโพ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ

‘มองไปข้างหน้า’ (Look Ahead) คือคติพจน์ (Motto) ประจำเรือของ USS John C. Stennis หนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ชั้น Nimitz แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งฝ่าคลื่นลมมรสุม และยืนหยัดลอยลำอยู่กลางท้องทะเล เพื่อรักษาสันติภาพอย่างภาคภูมิมานานเกือบ 25 ปี

 

เจ้าของคติ Look Ahead เป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจาก ส.ว. จอห์น ซี. สเตนนิส อดีตนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และเป็นรัฐบุรุษผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อกองทัพเรือ จนนามของเขาถูกนำไปตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน เทียบเคียงอดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลอย่าง อับราฮัม ลินคอล์น, จอร์จ วอชิงตัน, ธีโอดอร์ โรสเวลต์ และ แฮร์รี เอส. ทรูแมน ที่ล้วนได้รับเกียรตินี้

 

ทีมงาน THE STANDARD ได้รับเกียรติจากสถานทูตสหรัฐฯ ซึ่งชวนขึ้นไปเดินชมความยิ่งใหญ่ของเรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis (CVN-74) ในโอกาสที่เรือแวะเวียนมาเทียบท่าทอดสมอที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกส่งทหารและยุทโธปกรณ์มาร่วมฝึก ‘คอบร้าโกลด์’ ครั้งที่ 38 กับกองทัพไทย

 

สำหรับผมแล้ว ถือเป็นโอกาสดี เพราะเคยใฝ่ฝันว่าจะขึ้นไปเหยียบดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ สักครั้งในชีวิต ดังนั้นจึงตอบรับคำเชิญอย่างไม่รีรอ และทริปนี้ก็เกิดขึ้น

 

 

รู้จัก USS John C. Stennis

USS John C. Stennis (JCS) เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ลำที่ 7 จากทั้งหมด 10 ลำ ในชั้น Nimitz ต่อขึ้นโดยบริษัท Newport News Shipbuilding Co. และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปี 1995 โดยบ้านของมันอยู่ที่ฐานทัพเรือในเมืองเบรเมอร์ตัน รัฐวอชิงตัน

 

เรือลำนี้มีความยาวทั้งสิ้น 1,092 ฟุต กว้าง 257 ฟุต และสูง 244 ฟุต (วัดจากเสากระโดงถึงกระดูกงูเรือ) มีระวางขับน้ำกว่า 100,000 ตัน บรรทุกอากาศยานได้มากถึง 70 ลำ สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วกว่า 30 นอต (56 กม./ชม.) และไปได้ไกลกว่า 1 ล้านไมล์โดยที่ไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่  

 

 

เอกลักษณ์ USS John C. Stennis

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น USS John C. Stennis เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งเดียวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ใช้นามของวุฒิสมาชิกเป็นชื่อเรียก และความยิ่งใหญ่ของมันก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน USS George Washington (CVN-73), USS Ronald Reagan (CVN-76) และ USS George H.W. Bush (CVN-77) ที่เราได้ยินชื่อกันจนคุ้นหู เพราะเป็นเรือชั้น Nimitz ที่ทรงพลังที่สุดในโลกเหมือนกัน

 

ความพิเศษของ USS John C. Stennis คือมีห้องพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น ซี. สเตนนิส โดยเฉพาะ ซึ่งไม่มีในเรือชั้น Nimitz ลำอื่นๆ โดยภายในห้องมีการจัดแสดงภาพถ่ายและประวัติการทำงานของเขา นอกจากนี้ที่มุมห้องยังจัดวางเก้าอี้จริงที่เขานั่งทำงานในวุฒิสภาสมัยดำรงตำแหน่งด้วย และที่พื้นห้องพิพิธภัณฑ์ยังปูพรมแบบเดียวกับที่ใช้ในห้องประชุมวุฒิสภาที่ US Capitol หรืออาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

 

 

จอห์น ซี. สเตนนิส เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี 1901 เป็น ส.ว. รัฐมิสซิสซิปปีที่ดำรงตำแหน่งนานถึง 41 ปี (ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ) โดยอยู่ในยุคสมัยของประธานาธิบดี 8 คน ได้แก่ แฮร์รี เอส. ทรูแมน, ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี, ลินดอน บี. จอห์นสัน, ริชาร์ด นิกสัน, เจอรัลด์ ฟอร์ด, จิมมี คาร์เตอร์ และ โรนัลด์ เรแกน

 

นอกจากเก้าอี้ที่มุมห้องแล้ว ตรงกลางห้องยังวางโต๊ะทำงานจำลองที่สเตนนิสใช้ตอนดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย โดยใต้โต๊ะมีฐานวางทรงแปดเหลี่ยมที่สลักชื่ออดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 8 คน ในแต่ละด้าน 

 

 

สเตนนิสได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งกองทัพเรือสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เนื่องจากเขาทำงานอย่างบากบั่นและอุทิศตนให้กับกิจการของกองทัพเรือเสมอมา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพเรือเป็นพิเศษ

 

หลังจากที่เรือบรรทุกเครื่องบินสร้างแล้วเสร็จ ได้มีประกาศตั้งชื่อเรือตาม ส.ว. สเตนนิส ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

 

อีกหนึ่งเกียรติประวัติที่หาใครทัดเทียมได้ยากคือ การที่เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง President Pro Tempore แห่งวุฒิสภาในช่วงปี 1987-1989 ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงที่เป็นรองเพียงประธานวุฒิสภา และมีความอาวุโสลำดับที่ 3 ที่จะสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากรองประธานาธิบดีและประธานสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิต ลาออก หรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง  

 

 

ถัดจากห้องพิพิธภัณฑ์วุฒิสมาชิก จอห์น ซี. สเตนนิส เรามาถึงบริเวณที่เป็นโรงเก็บเครื่องบิน (Hangar Bay) ซึ่ง นาวาตรี เจสสิกา แอนเดอร์สัน เจ้าหน้าที่พีอาร์ของ JCS บอกเราว่า เรือลำนี้แบ่งโรงเก็บเครื่องบินออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งใช้เป็นจุดซ่อมบำรุงอากาศยานประเภทต่างๆ ตั้งแต่เครื่องบินขับไล่แบบ F-18 ไปจนถึงเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศล่วงหน้า (AEW) และเฮลิคอปเตอร์ โดยที่นี่ยังใช้เป็นลานอเนกประสงค์ และที่เก็บอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงถังเชื้อเพลิงสำรอง (Drop Tank) ของเครื่องบินด้วย

 

 

จากจุดที่เรายืนอยู่ในโรงเก็บเครื่องบิน สามารถไต่บันไดขึ้นไปชั้นบนของเรือได้ทั้งหมด 10 ชั้น หรือลงไปข้างล่างได้ 8 ชั้น ซึ่งนับแบบคร่าวๆ ก็คือ เรือลำนี้มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 19 ชั้น

 

 

สะพานเดินเรือ: ทำงานดุจมันสมอง

จากโรงเก็บเครื่องบิน เราปีนบันไดตามเจ้าหน้าที่ขึ้นไปยังห้องควบคุมการเดินเรือบนสะพานเดินเรือ (Bridge) ซึ่งเป็นห้องที่ต้นหนเรือ (Navigator) ดูแลการเดินเรือเป็นหลัก โดยในห้องนี้มีเก้าอี้ของกัปตันเรือที่หมุนได้ 360 องศาด้วย และเมื่อมองผ่านหน้าต่างออกไป จะเห็นดาดฟ้าเรือและลานบินอย่างชัดเจน

 

อธิบายหลักการทำงานคร่าวๆ บนสะพานเดินเรือแห่งนี้ก็คือ นอกจากการควบคุมทิศทางของเรือแล้ว ที่นี่ยังตรวจวัดตำแหน่งพิกัดของเรือ และติดตามเส้นทางเดินเรือด้วย โดยจะมีทหารเรือที่เป็นนายกราบเฝ้ายาม (Quartermaster of the Watch) คอยผลัดเปลี่ยนกะมาเฝ้าดูตลอดทั้งวันทั้งคืน

 

และนายยามเรือเดิน (Conning Officer) จะควบคุมเรือให้เคลื่อนที่ไปในเส้นทางที่ปลอดภัยตามคำแนะนำของนายกราบ ขณะที่สรั่งเรือ (Boatswain) จะตรวจตราการปฏิบัติหน้าที่เฝ้ายามของทหารเรือบนสะพานเดินเรือ

 

 

ส่วนการควบคุมพวงมาลัยและความเร็วของเรือนั้น จะเป็นหน้าที่ของนายท้าย (Helmsman)

 

ขณะที่ผู้บังคับการเรือจะคอยตรวจตราความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพลูกเรือหรือภัยคุกคามต่อเรือลำนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาจะทำหน้าที่คอยรายงาน ขานรับ หรือตอบ หากมีการติดต่อสื่อสารเข้ามา

 

ดังนั้น บนนี้จึงมีระบบเรดาร์ที่ทันสมัย ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นสิ่งที่อยู่รอบๆ เรือภายในรัศมี ทั้งเรือทหารและพลเรือน รวมถึงเรือของมิตรและศัตรู นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสภาพอากาศ เช่น วัดทิศทางลม ความเร็วลม และตำแหน่งของเรือ ซึ่งเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อการนำเครื่องบินบินขึ้นหรือลงบนดาดฟ้าเรือ

 

ห้องอำนวยการรบ

บนเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ยังมีศูนย์บัญชาการสู้รบ (Combat Direction Center: CDC) ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปได้ ศูนย์แห่งนี้รับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับปฏิบัติการสู้รบของเรือบรรทุกเครื่องบินและฝูงบินต่างๆ และยังมีหน้าที่ตรวจตรา ประเมิน และรายงานสิ่งที่ตรวจพบบนอากาศ บนผิวน้ำ หรือใต้น้ำ

 

ศูนย์ CDC จะแบ่งฝ่ายงานออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่ การตรวจหาและติดตาม, นำเสนอและตัดสินใจ, ทำสงครามทางอิเล็กทรอนิก, ทำสงครามทางอากาศ, ทำสงครามบนผิวน้ำ, ทำสงครามใต้น้ำ และวางแผนปฏิบัติการทางยุทธวิธี

 

ส่วนระบบยุทโธปกรณ์ของ JCS ประกอบด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบ Phalanx ซึ่งเป็นอาวุธระยะประชิด (CIWS) ที่สามารถตรวจจับสิ่งคุกคามได้อัตโนมัติ ทั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ เครื่องบิน และเรือผิวน้ำ

 

อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บสำคัญคือ ระบบปืนยิงเร็วขนาดลำกล้อง 20 มม. ที่ใช้ยิงสกัดขีปนาวุธต่อสู้เรือรบ และระบบ Rolling Airframe Missile (RAM) ซึ่งเป็นท่อปล่อยขีปนาวุธจำนวน 21 ลูก และใช้อินฟราเรดในการติดตามเป้าหมายบนอากาศ

 

ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ

เมื่อเรือเป็นฐานทัพอากาศลอยน้ำที่ทำหน้าที่คล้ายสนามบิน จึงจำเป็นต้องมีศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier Air Traffic Control Center: CATCC) ซึ่งภารกิจหลักคือ การควบคุมการจราจรทางอากาศให้เป็นไปอย่างว่องไวและปลอดภัย รวมถึงการอนุมัติเครื่องบินบินขึ้นและลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน

 

CATCC จะแบ่งส่วนงานออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายปฏิบัติการทางอากาศ (AirOps) และฝ่ายควบคุมเครื่องบินที่บินเข้าใกล้เรือ (CCA) โดย AirOps จะคอยติดตามสถานะของเครื่องบินที่ออกปฏิบัติการ ส่วน CCA จะทำหน้าที่จัดการจราจรโดยใช้ระบบเรดาร์ค้นหาทางอากาศ และระบบนำทางลงจอดที่แม่นยำ

 

 

ศูนย์ควบคุมดาดฟ้าบิน

Flight Deck Control ทำงานแยกต่างหากจากศูนย์ CATCC โดยมีหน้าที่ดูแลและสนับสนุนอากาศยานทุกลำบนดาดฟ้าบิน

 

เจ้าหน้าที่ควบคุม (Handler) จะคอยควบคุมการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ ดูแลรักษา รวมถึงเติมเชื้อเพลิงให้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์แต่ละลำ

 

ที่นี่ยังมีโมเดลขนาดย่อของดาดฟ้าเรือและเครื่องบินจำลอง ซึ่งจะแสดงตำแหน่งของเครื่องบินที่อยู่บนดาดฟ้า ณ เวลาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินที่กำลังเตรียมเทกออฟ รอเติมเชื้อเพลิง หรือกำลังรับการดูแลรักษาอยู่

 

 

MISSION

ภารกิจหลักของเรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis คือการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในน่านน้ำทั่วโลก โดยพื้นที่ขนาด 4.5 เอเคอร์บนดาดฟ้าเรือลำนี้ ถือเป็นอาณาเขตอธิปไตยของสหรัฐฯ ที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ไกลสุดของโลกได้

 

แต่นอกจากผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว นาวาเอก เจ. แพทริก ธอมป์สัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง (Executive Officer) ของเรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis ย้ำว่า ภารกิจสำคัญของเรือลำนี้คือ การรักษาสันติภาพในทะเลด้วย

 

 

ในระหว่างให้สัมภาษณ์รวม นาวาเอก ธอมป์สัน ตอบคำถามเกี่ยวกับความสำเร็จของภารกิจที่ผ่านๆ มาว่า การดำรงอยู่ของเรือ USS John C. Stennis ถือเป็นความสำเร็จที่ตอบโจทย์ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะการที่เรือแล่นไปที่ไหน ก็หมายถึงการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพที่นั่น ซึ่งโดยหลักๆ แล้วคือ การควบคุมเส้นทางเดินเรืออย่างเสรีในน่านน้ำสากล

 

เขายังกล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับลูกเรือจำนวน 5,100 ชีวิตบนเรือลำนี้ ซึ่งมีทั้งทหารเรือ นาวิกโยธิน และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝ่ายต่างๆ

 

ก่อนที่เรือจะเข้าเทียบท่าที่แหลมฉบัง USS John C. Stennis ได้แล่นไปประจำการที่อ่าวเปอร์เซียในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2018 ถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมภารกิจต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยเครื่องบินขับไล่ F-18 ถูกส่งจากเรือขึ้นไปปฏิบัติภารกิจโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถาน และกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในอิรักและซีเรีย

 

จากนั้นเรือได้ลอยลำอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย หลังได้รับคำสั่งให้แล่นเข้าเขตน่านน้ำปฏิบัติการของกองเรือที่ 7 แห่งสหรัฐฯ เพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

 

 

มีอะไรบ้างบนดาดฟ้าเรือ (Flight Deck)

อาจกล่าวได้ว่า ทีเด็ดของเรือบรรทุกเครื่องบินทุกลำอยู่บนดาดฟ้าเรือ (Flight Deck) เพราะเขี้ยวเล็บของกองทัพล้วนอยู่บนนั้นส่วนใหญ่

 

นาวาเอก ธอมป์สัน ไม่ได้บอกตัวเลขเจาะจงว่าบนเรือ USS John C. Stennis เวลานี้มีเครื่องบินทั้งหมดกี่ลำ เพียงแต่บอกคร่าวๆ ว่า มีอากาศยานทางยุทธวิธีที่ขึ้นลงรวมประมาณ 70 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ที่จอดอยู่ในโรงเก็บเครื่องบินด้วย

 

จากห้องควบคุมการเดินเรือ เราเดินลงบันไดหลายชั้นก็มาถึงดาดฟ้าเรือ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของทริปนี้ ที่นี่เราได้เห็นเครื่องบินมากมายจอดเรียงรายบนลานบิน ทั้งเครื่องบินขับไล่ F-18, เฮลิคอปเตอร์ MH-60 Seahawk และเครื่องบิน E-2 Hawkeye

 

 

เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า บนดาดฟ้าบินนี้มีเครื่องดีดส่ง (Catapult) ทั้งหมด 4 จุด ซึ่งเป็นตัวส่งเครื่องบิน F-18 เวลาบินขึ้น แตกต่างจากเรือบรรทุกเครื่องบิน Admiral Kuznetsov ของรัสเซีย และ Liaoning ของจีน ที่ไม่มี Catapult เพราะที่ดาดฟ้าตรงหัวเรือจะออกแบบให้มีลักษณะลาดเอียงขึ้น หรือที่เรียกว่า Ski-Jump แทน

 

ส่วนเวลาเครื่องบินลงจอดนั้น เมื่อนักบินจัดแนวบินให้ตรงกับเส้นกึ่งกลางลงจอดบนดาดฟ้าแล้ว จะมีการบังคับเครื่องบินให้อยู่ในมุมลดระดับ โดยจำกัดความเร็วที่ประมาณ 160 ไมล์ต่อชั่วโมง จากนั้นตะขอเกี่ยวตรงท้ายเครื่องบินจะเกี่ยวกับลวด (Arresting Wires) บนดาดฟ้า ซึ่งจะหยุดเครื่องบินให้หยุดอยู่กับที่

 

 

เครื่องบินขับไล่ F/A-18E/F Super Hornet

เรามักเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า F-18 แต่เครื่องบินขับไล่ที่ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis เป็นโมเดล F/A-18E และ F/A-18F Super Hornet ของบริษัท Boeing ซึ่งผ่านการอัปเกรดและพัฒนาต่อยอดมาจาก F/A-18 Hornet ของ McDonnell Douglas

 

F/A-18E เป็นเครื่องบินรบแบบมีที่นั่งเดี่ยว ส่วน F/A-18F เป็นแบบ 2 ที่นั่ง ส่วนระบบอาวุธที่น่าสนใจคือ ปืนกล M61 Vulcan ขนาดลำกล้อง 20 มม. และระบบอาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) และอากาศสู่พื้น (ASM) ด้วยรัศมีการสู้รบระยะทาง 722 กิโลเมตร

 

Super Hornet มีพิสัยบินไกลถึง 2,346 กิโลเมตร ติดตั้งถังเชื้อเพลิงสำรอง (Drop Tank) ได้จำนวน 5 ถัง และทำความเร็วได้สูงสุดที่ Mach 1.8 (2,205 กม./ชม.) ที่ระดับความสูง 40,000 ฟุต

 

สำหรับภารกิจของ F-18 เมื่อไม่นานมานี้ คือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ที่มั่นกลุ่ม IS ในอิรักและซีเรียเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเราคงรู้พิษสงของมันดีอยู่แล้ว จากสมรภูมิต่างๆ ที่มันเข้าร่วมในอดีต

 

นอกจาก F/A-18E/F แล้ว บนเรือลำนี้ยังมี EA-18G Growler ซึ่งเป็น F-18 เวอร์ชันที่ใช้ในภารกิจทำสงครามทางอิเล็กทรอนิก (Electronic Warfare) โดยเฉพาะอีกด้วย

 

 

เฮลิคอปเตอร์ MH-60 Seahawk

พัฒนาโดยบริษัท Sikorsky เจ้าเหยี่ยวทะเลเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายบทบาท ตั้งแต่การค้นหาและกู้ภัยในทะเล (SAR), ขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัยในแนวดิ่ง (VERTREP), เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ (MEDEVAC) ไปจนถึงการทำสงครามพิเศษทางเรือ (NSW), ทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (ASW) และทำสงครามต่อต้านเรือผิวน้ำ (ASUW)

 

นอกจากบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว MH-60 Seahawk ยังสามารถลงจอดบนเรือลาดตระเวน, เรือพิฆาต, เรือฟรีเกต, เรือสนับสนุนการสู้รบ รวมถึงเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ หรือเรือยกพลขึ้นบกด้วย

 

สำหรับเรือ USS John C. Stennis มี Seahawk ประจำการอยู่ 2 แบบ คือ MH-60S และ MH-60R

 

 

เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศล่วงหน้า E-2C Hawkeye

E-2C Hawkeye เป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ใบพัด 2 ตัว (Turboprop) พัฒนาโดยบริษัท Northrop Grumman เริ่มเข้าประจำการในกองทัพครั้งแรกในปี 1964

 

จุดเด่นของมันอยู่ที่จานกลมๆ แบนๆ ที่ติดอยู่เหนือลำตัวและปีกของเครื่องบิน ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ โดมเรดาร์หมุนได้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.3 เมตร

 

ส่วนหน้าที่หลักๆ ของ E-2C Hawkeye ก็ตามชื่อของเครื่องบินนั่นแหละ กล่าวคือคอยบินลาดตระเวนเพื่อตรวจหาเครื่องบิน เรือ หรือยานพาหนะในระยะไกล เพื่อแจ้งเตือนกลับมายังกองบัญชาการ นอกจากนี้ตัวมันเองยังทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการและควบคุมสมรภูมิรบทางอากาศ โดยสามารถสั่งการให้เครื่องบินขับไล่และเครื่องบินรบโจมตีเป้าหมายได้ด้วย

 

 

แสนยานุภาพกองเรือประจัญบาน

อย่างที่เราทราบกันว่า เรือบรรทุกเครื่องบินมักไม่แล่นไปไหนมาไหนตามลำพัง แต่จะห้อมล้อมด้วยเรือรบต่างๆ อยู่เสมอ ในบางโอกาสอาจมีทั้งเรือพิฆาต, เรือลาดตระเวน, เรือฟรีเกต, เรือตรวจการณ์ และเรือดำน้ำ ซึ่งกองเรือประจัญบาน JCS นั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า John C. Stennis Carrier Strike Group (JCSCSG) ซึ่งอยู่ในโครงสร้าง Carrier Strike Group Three (CSG-3) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยมีเรือ USS John C. Stennis เป็นเรือธง ขนาบด้วยเรือลาดตระเวน USS Mobile Bay ชั้น Ticonderoga

 

ส่วน USS John C. Stennis จะมีเรือติดตามอีกกี่ลำนั้น ขึ้นอยู่กับภารกิจเป็นสำคัญ แต่โดยหลักๆ แล้ว เรือที่ติดตามจะมาจากกองเรือพิฆาต 21 (Dastroyer Squadron 21 หรือ DESRON 21) ซึ่งประกอบด้วยเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke อย่าง USS Chung-Hoon, USS Decatur, USS Gridley, USS Spruance และ USS Stockdale  

 

สำหรับผู้บัญชาการกองเรือ Carrier Strike Group Three คือ พลเรือตรี ไมค์ เว็ทลอเฟอร์

 

 

นอกจากกองเรือพิฆาตแล้ว กองประจัญบาน CSG-3 ยังมีฝูงบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินที่เรียกว่า Carrier Air Wing Nine ประกอบด้วย 9 ฝูงบิน (CVW 9 Squadrons) ได้แก่ ฝูงบินขับไล่ Tophatters, Black Aces, Warhawks และ Vigilantes, ฝูงบินโจมตีทางอิเล็กทรอนิก Wizards, ฝูงบินเตือนภัยทางอากาศล่วงหน้าประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน Wallbangers, ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์สู้รบทางทะเล Chargers, ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีทางน้ำ Raptors และฝูงบินสนับสนุนโลจิสติกส์ประจำกองเรือ Providers

 

สำหรับฝูงบิน Tophatters, Warhawks และ Vigilantes ใช้งานเครื่องบินขับไล่แบบ F/A-18E เป็นหลัก ส่วนฝูงบิน Black Aces ใช้ F/A-18F ขณะที่ฝูง Wizards ใช้เครื่องบิน EA-18G Growler เป็นหลัก สำหรับฝูงบิน Wallbangers, Chargers, Raptors และ Providers ใช้ E-2C Hawkeye, MH-60S, MH-60R และ C-2A Greyhound ตามลำดับ

 

 

ในทางการทูตแล้ว การส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปเยือนประเทศต่างๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนสัมพันธไมตรีที่แนบแน่นระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ การมาเยือนของ USS John C. Stennis ในช่วงเวลานี้จึงมีนัยสำคัญ เพราะเกิดขึ้นหลังจากที่ไทยกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2014

 

ซึ่งก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

 

ก่อนจบทริป เราย้อนกลับลงมาที่โรงเก็บเครื่องบิน ที่นี่มีมุมเล็กๆ ที่จำหน่ายของที่ระลึกบนเรือ มีทั้งหมวก เหรียญ แก้ว และพวงกุญแจให้เลือกเก็บ แต่บอกก่อนว่า บนนี้ต้องใช้เงินดอลลาร์ซื้อเท่านั้น ใครที่มีโอกาสเที่ยวชมเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ครั้งต่อๆ ไป ก็อย่าลืมแลกเงินเผื่อไว้สักหน่อย

 

‘Look Ahead’

 

ระหว่างทางเราได้เห็นคติพจน์นี้บนผนังอีกครั้ง เป็นคติสั้นๆ แต่แฝงด้วยปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้ง มันย้ำเตือนเราว่า ทุกครั้งที่ชีวิตเผชิญกับมรสุมและอุปสรรค เราควรบากบั่น มุ่งมั่น และมองไปข้างหน้า เพื่อไปสู่จุดหมาย เช่นเดียวกับลูกเรือทุกคนบนเรือลำนี้ที่ยึดมั่นคติพจน์นี้ และมองไปข้างหน้าทุกวัน ถึงแม้ต้องฝ่าคลื่นลมมรสุมนานัปการในท้องทะเลกว้าง แต่เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ก็ไม่เคยครั่นคร้าม

 

จนกว่าจะพบกันอีกครั้ง USS John C. Stennis

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • เรือบรรทุกเครื่องบิน USS John C. Stennis สามารถเดินทางรอบโลกได้โดยไม่ต้องหยุดพัก หรือแวะเติมเชื้อเพลิง และสามารถลอยลำอยู่กลางทะเลได้นานตราบเท่าที่ต้องการ เพราะการขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัยสามารถลำเลียงได้ทั้งจากทางอากาศ (VERTREP) หรือจากการเชื่อมต่อกับเรือด้วยกัน (CONREP) ได้
  • เรือมีความสูงเท่ากับตึก 24 ชั้น
  • มีสมอเรือ 2 ตัว หนักตัวละ 30 ตัน โดยสมอตรงกราบขวาเรือ (Starboard) นำมาจากเรือ USS Forrestal (CV 59)
  • ใบจักรเรือมีน้ำหนัก 66,200 ปอนด์ และหางเสือเรือหนัก 30,000 ปอนด์
  • สามารถรองรับทหารเรือและนาวิกโยธินได้ 6,200 คน
  • บนเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้มีการบริการอาหาร 18,600 ชุดต่อวัน
  • เสิร์ฟไข่ในมื้ออาหารเช้าจำนวน 12,200 ฟอง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X