×

วิเคราะห์สาเหตุแบงก์ชาติทั่วโลกลดถือดอลลาร์ในฐานะเงินทุนสำรอง ส่วน ธปท. เพิ่มถือทองคำสัดส่วนแตะ 6%

18.04.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

1 min. read
  • ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถูกจัดเก็บไว้ในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยธนาคารกลางทั่วโลกถูกปรับลดลงจาก 70% ลงมาอยู่ที่ 60%
  •  IMF ออกมาเตือนว่าการนำมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินอย่างรุนแรงมาใช้กับรัสเซียของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอาจทำให้อิทธิพลของเงินสกุลดอลลาร์ในฐานะการเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง 
  • ประเทศที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาขัดแย้งกับสหรัฐฯ จะกระจายการถือครองเงินทุนสำรองไปยังสินทรัพย์และเงินสกุลอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกกดดันและแทรกแซงจากมาตรการทางการเงินจากสหรัฐฯ
  • เงินหยวนยังไม่พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาคานอำนาจในฐานะเงินทุนสำรองสกุลหลักของโลกจากข้อจำกัดเรื่องการถูกควบคุมโดยทางการจีน แต่จะทยอยมีบทบาทมากขึ้นในระยะยาวตามปริมาณการค้าในรูปเงินหยวนที่เพิ่มขึ้น
  • ธปท. ถือครอง ‘ทองคำ’ เพิ่มแตะ 6% ของเงินสำรองฯ ย้ำการบริหารเงินสำรองยึด 3 ข้อหลัก กระจายความเสี่ยง สภาพคล่องสูง และมั่นคงปลอดภัย

ดูเหมือนว่า ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกได้ทยอยลดการถือครอง ‘เงินดอลลาร์’ ที่อยู่ในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งปมขัดแย้งระหว่าง รัสเซียกับยูเครน ทำให้ภาพเหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้น รองจากประเด็นการ ‘ปั๊มเงิน’ ดอลลาร์เข้าสู่ระบบ จนทำให้มูลค่าเงินดอลลาร์เสื่อมถอยลง

 

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองหรืออยู่ภายใต้การควบคุมโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ มักจะประกอบไปด้วยเงินตราต่างประเทศต่างๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, ปอนด์, เยน และหยวน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีทองคำ พันธบัตรรัฐบาล สิทธิพิเศษถอนเงิน และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

 

โดยทุนสำรองระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เป็นกันชนในการรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ป้องกันไม่ให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ เคลื่อนไหวเร็วเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการนำเข้าส่งออกและราคาสินค้า รวมทั้งยังเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

 

ในอดีตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกถูกจัดเก็บไว้ในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วนที่สูงถึง 70% แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปริมาณเงินทุนสำรองในรูปสกุลดอลลาร์ได้ถูกธนาคารกลางต่างๆ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เงินสกุลอื่นๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในเวทีการค้าโลกเพิ่มขึ้น 

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า 1 ในสาเหตุใหญ่ที่เงินดอลลาร์มีความสำคัญในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศลดลง คือการก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นของเงินสกุลหยวนของจีน จากการที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามผลักดันประเทศคู่ค้าของตัวเองให้ใช้สกุลเงินหยวนและเงินสกุลท้องถิ่นในการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปริมาณการถือครองเงินสำรองใน 5 สกุลเงินหลักของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน จะพบว่าเงินสกุลดอลลาร์ยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 59.1% ตามมาด้วยเงินสกุลยูโรที่ 20.5% เงินเยน 5.8% เงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ 4.8% ขณะที่เงินหยวนยังมีสัดส่วนอยู่เพียง 2.7%

 

ขณะเดียวกัน เงินสกุลดอลลาร์ก็ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดในเวทีการค้าโลกเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 39.9% ตามมาด้วยเงินสกุลยูโรที่ 36.56% และปอนด์สเตอร์ลิงที่ 6.3% ขณะที่เงินเยนซึ่งอยู่ในอันดับ 5 มีส่วนแบ่งตลาดตามหลังเงินหยวนอยู่ที่ 2.79%

 

 

ล่าสุด IMF ได้ออกมาเตือนว่า การคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกจากกรณีการรุกรานยูเครนอาจทำให้อิทธิพลของเงินดอลลาร์ในฐานะการเป็นเงินทุนสำรองสกุลหลักของโลกยิ่งลดลง และทำให้ระบบการเงินโลกกระจายตัวมากขึ้น

 

“แม้เงินดอลลาร์จะยังเป็นเงินสกุลหลักในฐานะสื่อกลางการค้าและการเป็นเงินทุนสำรองของโลก แต่เราอาจได้เห็นระบบการเงินกระจายตัวในระดับย่อยมากขึ้น ขณะนี้มีบางประเทศที่กำลังพิจารณาเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่นๆ สำหรับการชำระหนี้การค้าและถือครองในฐานะเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้น” กีตา โกปินาธ รองกรรมการผู้จัดการ IMF ระบุ

 

รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเพื่อตอบโต้การเข้ายึดครองไครเมียในปี 2557 แต่ถึงกระนั้นรัสเซียก็ยังคงมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศประมาณ 1 ใน 5 เป็นสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ก่อนการบุกรุกยูเครน

 

โกปินาธคาดการณ์ว่า ปริมาณการทำธุรกรรมการค้าโลกภายใต้เงินสกุลอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจะนำไปสู่การกระจายการถือครองเงินสกุลอื่นในฐานะเงินทุนสำรองของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกตามไปด้วย

 

“โดยทั่วไปแต่ละประเทศจะเลือกถือเงินทุนสำรองเป็นสกุลเงินที่ใช้ค้าขายและกู้ยืมกับประเทศอื่นๆ ทำให้เราจะค่อยๆ เห็นเทรนด์การหันไปถือเงินทุนสำรองที่เป็นสกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากดอลลาร์เพิ่มขึ้นช้าๆ ในแต่ละประเทศ” เธอกล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม โกปินาธยอมรับว่า ด้วยคุณสมบัติของเงินสกุลดอลลาร์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง มีความลึกของตลาดและมีสภาพคล่องสูงจะทำให้การเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองยังไม่เกิดขึ้นในระยะปานกลาง

 

ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่เชื่อว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินอย่างรุนแรงต่อรัสเซียของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหรือ Game Changer ที่ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องหันมาพิจารณากระจายการถือครองเงินทุนสำรองไปยังสกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์มากขึ้น

 

“การนำการเงินมาใช้เป็นอาวุธเล่นงานรัสเซียในครั้งนี้ ทำให้เงินดอลลาร์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มีสภาพคล่องสูง อยากขายเมื่อไรก็ขายได้ จะถูกมองต่างไปจากเดิม ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มจะมีปัญหากับสหรัฐฯ จะมีการกระจายเงินทุนสำรองไปยังสกุลอื่นๆ เพิ่มขึ้น” พิพัฒน์ระบุ

 

อย่างไรก็ดี อิทธิพลของเงินดอลลาร์จะยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสินทรัพย์อื่นที่มีความปลอดภัย ผันผวนต่ำ มีสภาพคล่องสูง เปลี่ยนเป็นเงินได้ทันทีเหมือนดอลลาร์

 

“ปัจจุบันทั้งโลกเรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมอยู่ราว 12 ล้านล้านดอลลาร์ 60% หรือราว 7 ล้านล้านเป็นดอลลาร์ อีก 20% เป็นยูโร ที่เหลือเป็นเงินสกุลอื่นๆ เช่น เยน ปอนด์สเตอร์ลิง หยวน และทองคำ ในระยะหลังมานี้เงินหยวนเริ่มมีบทบาทในฐานะเงินสำรองมากขึ้น แต่ก็ยังมีขนาดเพียง 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งยังเล็กมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์เชื่อว่า เงินหยวนจะมีบทบาทในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นหากพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ตาม เงินหยวนจะยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเงินทุนสำรองที่สมบูรณ์แบบได้เนื่องจากถูกควบคุมจากทางการจีนไม่ให้เคลื่อนไหวอย่างเสรี และจีนยังจำเป็นต้องพัฒนาตลาดบอนด์ให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

 

“เชื่อว่าไทยเองอาจมีการกระจายไปถือเงินหยวนเป็นทุนสำรองมากขึ้นตามปริมาณการค้าด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เหตุผลเรื่องความมั่นคง เพราะเราไม่ได้มีปัญหากับชาติตะวันตก แต่คงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะเพราะการพิจารณาเรื่องทุนสำรองยังต้องคำนึงถึงสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ผันผวนต่ำ มีสภาพคล่องสูง ซึ่งยังไม่มีอะไรตอบโจทย์ได้เท่าเงินดอลลาร์” พิพัฒน์กล่าว

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น การเกิดขึ้นของเงินยูโร การพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาลของสหรัฐฯ และการเติบโตของเศรษฐกิจจีน

 

“ในช่วงวิกฤตปี 2008 คนมองว่าสหรัฐฯ พิมพ์เงินได้มหาศาลขณะที่ประเทศอื่นมีข้อจำกัด ทำให้ความเชื่อมั่นเริ่มลดลงและพยายามลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ แต่ก็ยังทำได้ยาก เพราะแม้แต่เงินยูโรที่เป็นอันดับ 2 ก็ยังมีสัดส่วนที่ห่างจากดอลลาร์ค่อนข้างมาก ขณะที่เงินหยวนจีนก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงยาก และจีนเองก็ไม่ต้องการเปิดเสรีเพราะไม่อยากถูกโจมตีค่าเงิน” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพประเมินว่า การคว่ำบาตรทางการเงินรัสเซียในรอบนี้จะทำกระแสลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ยังดำเนินต่อไป เห็นได้จากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุดีอาระเบียกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาทำข้อตกลงในการรับชำระค่าน้ำมันจากจีนเป็นเงินหยวนแทนการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 

 

“สำหรับประเทศไทยเข้าใจว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของเรากว่า 50% เป็นพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งในระยะสั้นเราคงไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไร แต่ในอนาคตหากเรามีการค้าขายกับประเทศอื่นมากขึ้นก็อาจพิจารณากระจายการถือเงินสำรองไปยังเงินสกุลของประเทศนั้นๆ ได้” อมรเทพกล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก​​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม ณ เดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง โดยคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

 

จากการสำรวจของ THE STANDARD WEALTH พบว่า สัดส่วนทองคำในทุนสำรองของไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6% โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 จากเดิมที่สัดส่วนนี้จะอยู่เพียง 3% 

 

ด้าน ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. มีการบริหารเงินลงทุนที่อยู่ในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยมีคณะกรรมการที่ดูแลในหลายๆ คณะ และยังต้องการผ่านตัดสินใจโดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท. ด้วย 

 

ที่ผ่านมา ธปท. ได้เปิดเผยสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศรายสัปดาห์ ซึ่งรวมถึงสัดส่วนการลงทุนในทองคำด้วย โดยจะเห็นว่า ธปท. ถือครองทองคำในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการลงทุนทั่วไปที่เมื่อนักลงทุนมองเห็นว่าอนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงอยู่มาก ส่วนใหญ่ก็คงเลือกเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยการลงทุนของ ธปท. ก็ไม่แตกต่างกัน 

 

อย่างไรก็ตาม โดยหลักการลงทุนของ ธปท. ที่ใช้บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศแล้ว นอกจากหลักการทั่วไปที่ภาคธุรกิจใช้พิจารณาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหลักการกระจายความเสี่ยงหรือเรื่องสภาพคล่องต่อการลงทุน ธปท. ยังต้องมองถึงความมั่นคงเป็นหลักสำคัญด้วย ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยในการลงทุนจึงถือเป็นหลักสำคัญที่ ธปท. ยึดถือเพิ่มเติมมาตลอด

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X