สมาคมสาธารณสุขแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Ohio Journal of Public Health ว่า ‘อะมีบากินสมอง’ ซึ่งปกติจะพบบ่อยในรัฐที่อยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ได้แพร่กระจายตัวมาเติบโตในรัฐทางเหนือแล้ว เนื่องจากภาวะโลกรวนทำให้อุณหภูมิของภูมิภาคดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปจนเอื้อต่อการดำรงอยู่ของอะมีบา
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า อะมีบากินสมองซึ่งมีชื่อว่า Naegleria fowleri เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ปกติแล้วจะอาศัยอยู่ในดินและแหล่งน้ำจืดที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง หรือประมาณ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป รวมถึงอาจพบเจอได้ในแท็งก์น้ำ เครื่องทำความร้อน หรือในท่อ ซึ่งปกติแล้วเชื้อพวกนี้จะชอบอยู่เป็นอิสระมากกว่าไปอาศัยอยู่ในตัวคนหรือสัตว์ แต่หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ก็จะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีอาการรุนแรงได้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลย้ำว่าอะมีบาชนิดนี้จะเข้าสู่สมองคนได้ก็ต่อเมื่อมีการ ‘สำลักน้ำทางจมูก’ โดยเชื้อจะไม่สามารถเข้าสู่สมองได้ผ่านการดื่มน้ำที่มีอะมีบาปนเปื้อน และไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คน
แม้โรคอะมีบากินสมองหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Primary amebic meningoencephalitis (PAM) จะทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่มีการพบเคสดังกล่าวไม่มากนัก โดยนับตั้งแต่ปี 1962 มีเคสผู้ป่วยจาก PAM ทั่วสหรัฐฯ อยู่ที่เพียง 0-8 คนต่อปีเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติเคยว่ายน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐฟลอริดาและเท็กซัส แต่นับตั้งแต่ปี 2010 สหรัฐฯ กลับพบผู้ติดเชื้ออะมีบาที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไปจากเดิม รวมถึงรัฐมินนิโซตา แคนซัส และอินเดียนา
จากรายงานดังกล่าว สมาคมสาธารณสุขแห่งรัฐโอไฮโอจึงได้แจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการทางการแพทย์ในรัฐทางตอนเหนือ เพื่อให้มีการวินิจฉัยและซักประวัติอย่างแน่ชัดว่าผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีประวัติเคยไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืดหรือไม่ และหากพบเชื้ออะมีบาจริงให้รีบรายงานต่อ CDC
รายงานดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกรวนไม่ได้ส่งผลแค่ให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว อย่างเช่น คลื่นความร้อนรุนแรง ฝนตก น้ำท่วม หรือภัยแล้งอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิด เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างช้าๆ นั้นได้ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า หากวันหนึ่งโลกของเรามีอุณหภูมิทะลุเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอย่างถาวร เมื่อนั้นโลกก็จะอยู่ในจุดที่ ‘แก้ไขอะไรได้ยากแล้ว’
ภาพ: Smith Collection / Gado / Getty Images
อ้างอิง: