×

สหรัฐฯ เล็งระงับขายอาวุธให้ซาอุ หลัง OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ด้านนักวิเคราะห์เตือนระวังผลย้อนกลับ

โดย THE STANDARD TEAM
13.10.2022
  • LOADING...

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความไม่พอใจซาอุดีอาระเบียที่ตัดสินใจร่วมกับพันธมิตร OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งขัดต่อความต้องการของสหรัฐฯ ที่ถือเป็นพันธมิตรรายสำคัญของซาอุดีอาระเบีย โดยวอชิงตันมองว่า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำและราคาพลังงานที่สูงอยู่แล้วนั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของซาอุดีอาระเบียถือเป็นการดูแคลนและการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งถึงการเข้าข้างมอสโก

 

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ มีมติหลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของ OPEC+ นับตั้งแต่ปี 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบเพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่ลดลง

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก โดยไบเดนกล่าวเตือนซาอุดีอาระเบียในการให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อวันอังคาร (11 ตุลาคม) ว่าให้ระวังผลที่ตามมา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าผลที่ตามมาคืออะไร

 

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้เรื่องการระงับขายอาวุธ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียใหม่ แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดที่ใกล้จะเกิดขึ้น

 

ด้าน ส.ส. และ ส.ว. พรรคเดโมแครตในสภาคองเกรส ได้ยื่นคำขาดต่อซาอุดีอาระเบีย โดยให้เวลาซาอุดีอาระเบียพิจารณาว่าจะยกเลิกมติลดการผลิตน้ำมัน หรือจะเผชิญกับมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะหยุดขายอาวุธทั้งหมดให้กับซาอุดีอาระเบีย 

 

พรรคเดโมแครตมองว่า มติดังกล่าวของ OPEC+ จะเป็นการ ‘เติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องจักรสงครามของวลาดิเมียร์ ปูติน’ และทำร้ายผู้บริโภคชาวอเมริกัน อีกทั้งยังถือเป็นการทรยศหักหลังสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนซาอุดีอาระเบียมานานหลายทศวรรษ

 

ทั้งนี้ วอชิงตันให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและความมั่นคงแก่ซาอุดีอาระเบียมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่รัฐบาลโอบามาเริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน ริยาดรู้สึกว่าความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการรักษาความมั่นคงของภูมิภาคนั้นลดลง

 

“ความจริงก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างยุติการเจรจาต่อรองมาเกือบ 10 ปีแล้ว” ไมเคิล สตีเฟนส์ จาก Royal United Services Institute ในลอนดอนกล่าวกับ CNBC

 

“และผมคิดว่า สิ่งที่คุณกำลังมองเห็นถือเป็นรอยแตกร้าวในความสัมพันธ์ ที่มีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าต่างฝ่ายต่างไม่เห็นประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในอีกฝ่ายมากเท่ากับที่พวกเขามองเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว” สตีเฟนส์กล่าว และเสริมด้วยว่า การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ‘เป็นผลสะท้อนของเรื่องดังกล่าว’

 

บ็อบ เมเนนเดซ วุฒิสมาชิกรัฐนิวเจอร์ซีย์จากพรรคเดโมแครต ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติความร่วมมือทั้งหมดกับซาอุดีอาระเบียทันที ซึ่งรวมถึงการขายอาวุธ

 

“สหรัฐฯ จะต้องระงับความร่วมมือทุกด้านของเรากับซาอุดีอาระเบียทันที ซึ่งรวมถึงการขายอาวุธและความร่วมมือด้านความมั่นคงใดๆ ก็ตามที่นอกเหนือไปจากการปกป้องบุคลากรและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” เมเนนเดซกล่าวในแถลงการณ์

 

แม้แต่ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกอิสระจากรัฐเวอร์มอนต์ พิจารณาถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยเขาทวีตว่า “หากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในโลก ต้องการร่วมมือกับรัสเซียเพื่อขึ้นราคาน้ำมันสหรัฐฯ และทำให้ปูตินปกป้องการปกครองระบอบราชาธิปไตยได้ เราต้องดึงทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากซาอุดีอาระเบีย หยุดขายอาวุธให้พวกเขา และยุติการร่วมกันกำหนดราคาน้ำมันของกลุ่มพันธมิตร”

 

นอกเหนือจากการระงับความช่วยเหลือทางทหารแล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยังมีช่องทางทางกฎหมายที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถดำเนินการได้ หนึ่งในนั้นคือร่างกฎหมาย NOPEC ซึ่งย่อมาจาก No Oil Production and Exporting Cartels ร่างกฎหมายนี้ได้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐฯ จากน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น 

 

ร่างกฎหมาย NOPEC ผ่านคณะกรรมการของวุฒิสภาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แต่ยังไม่ได้ลงนามเป็นกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ OPEC และพันธมิตรเผชิญกับการฟ้องร้องโทษฐานร่วมกันลดกำลังการผลิตที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น

 

ร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงต้องผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นประธานาธิบดีลงนามเป็นกฎหมาย จึงจะมีผลใช้บังคับ รัฐมนตรีกลุ่ม OPEC เคยวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมาย NOPEC โดยเตือนว่าจะนำความโกลาหลมาสู่ตลาดพลังงานมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนมีทางเลือกเพียงไม่กี่ทาง และผลที่ได้อาจตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้ 

 

ทอร์บจอร์น โซลต์เวดต์ นักวิเคราะห์ภูมิภาค MENA จากบริษัทบริหารความเสี่ยง Verisk Maplecroft กล่าวว่า การตัดสินใจของ OPEC+ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม OPEC และพันธมิตรนอกกลุ่มอย่างรัสเซีย “เน้นย้ำให้เห็นว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนสูญเสียความสามารถในการโน้มน้าวนโยบาย OPEC+ ของซาอุดีอาระเบีย

 

“แม้ว่าไบเดนจะเตือนถึง ‘ผลที่ตามมา’ หลังจากการลดการผลิตน้ำมันของ OPEC+ แต่จริงๆ แล้วทำเนียบขาวมีทางเลือกที่ดีเพียงไม่กี่ทาง” เขากล่าว และเตือนด้วยว่า ทางเลือกดังกล่าวอาจส่งผลย้อนกลับมาสู่ทั้งสหรัฐฯ และราคาน้ำมันดิบได้

 

“ทางเลือกทั้งสองนี้อาจทำลายความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งจะยิ่งกดดันราคาน้ำมันมากขึ้นไปอีก” โซลต์เวดต์กล่าว “สิ่งนี้ตรงข้ามกับที่ทำเนียบขาวพยายามทำให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน”

 

แฟ้มภาพ: Saul Loeb / AFP

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising