×

การเมืองเรื่อง TikTok เมื่อสมาชิกสภาคองเกรสและชาวอเมริกัน (โดยเฉพาะ Gen Z) มองไม่เป็นเสียงเดียวกันเรื่องควรแบนหรือไม่แบน

30.03.2023
  • LOADING...
TikTok สหรัฐฯ

สัปดาห์ที่แล้ว โจวโซ่วจือ ซีอีโอของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอย่าง TikTok ได้ให้ปากคำ (Testify) กับสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่ารัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายแบน TikTok ทั่วประเทศ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โจ ไบเดน ด้วย

 

ทำไมรัฐบาลของสหรัฐฯ ถึงมีแนวคิดที่จะแบนแอปชื่อดังซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอเมริกันอย่าง TikTok? ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คืออะไร

 

สปายจากเมืองจีน?

 

บริษัทแม่ของ TikTok อย่าง ByteDance นั้นเป็นบริษัทของคนจีน ภายใต้ผู้บริหารชาวจีน ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ กังวลเป็นอย่างมากว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ TikTok ชาวอเมริกันนั้นอาจหลุดรั่วไปถึงมือรัฐบาลจีนได้ ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงภัยต่อความมั่นคงของประเทศ นักการเมืองบางคนถึงกับกล่าวเปรียบเปรยว่าแอป TikTok นั้นเหมือนกับสปายบอลลูน (ที่เพิ่งเป็นข่าวดังเมื่อไม่นาน) ที่ฝังตัวอยู่ในสมาร์ทโฟนของชาวอเมริกันหลายสิบล้านเครื่อง

 

อีกประเด็นที่ทางการสหรัฐฯ เป็นกังวลก็คือความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะใช้ TikTok เป็นเครื่องมือในการทำโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เหมือนกับที่รัฐบาลรัสเซียเคยใช้ Facebook และ Twitter เพื่อมาก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ด้วยการให้ข้อมูลผิดๆ (Misinformation) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลกับ TikTok เป็นพิเศษ เพราะวิดีโอใน TikTok จะถูกแนะนำโดยอัลกอริทึมเป็นหลัก ไม่เหมือนกับ Facebook และ Twitter ที่สิ่งที่ผู้ใช้เห็นจะอยู่ที่การเลือกติดตาม (Follow) มากกว่า ทำให้การควบคุมสิ่งที่ผู้ใช้จะเห็นนั้นทำได้ง่ายกว่าบน TikTok

 

ว่ากันตามจริง ByteDance นั้นก็เป็นเพียงบริษัทเอกชนที่แสวงหากำไร และผู้บริหารของบริษัทเองคงอยากจะทำธุรกิจมากกว่าจะเอาตัวเองไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในระบอบการปกครองของจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจสูงสุดเหนือบรรดากลุ่มธุรกิจ และพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ปฏิบัติการเชือดไก่ให้ลิงดูมาแล้วกับหลายเคสที่นักธุรกิจทำตัวเด่นเกินไปหรือไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรค (เช่นกรณีของ แจ็ค หม่า) ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลใจในเรื่องนี้มาตลอด

 

ฉันทานุมัติจากเดโมแครตและรีพับลิกัน

 

แนวคิดในเรื่องการแบน TikTok นั้นได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นประธานาธิบดี เขาเคยออกคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อแบน TikTok ในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตาม คำสั่งของเขาได้ถูกศาลตีตกไป โดยที่ศาลอ้างว่าประธานาธิบดีและกระทรวงพาณิชย์ไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งเช่นนี้

 

ถึงแม้ทรัมป์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปลายปีเดียวกัน แต่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างไบเดนก็ยังคงเห็นชอบในหลักการและพยายามจะแบน TikTok โดยออกมาเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภาที่มีชื่อว่า Restricting the Emergence of Security Threats that Risk Information and Communications Technology (RESTRICT Act) ที่จะให้อำนาจกับกระทรวงพาณิชย์ในการแบนหรือบังคับขายแอปใดๆ ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศให้กับนักลงทุนชาวอเมริกัน

 

ซึ่งโอกาสที่ RESTRICT Act จะได้เสียงสนับสนุนจากทั้งสภาบนและสภาล่างนั้นก็มีอยู่สูง เพราะการมองว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาตินั้นแทบจะเป็นฉันทามติของนักการเมืองจากทั้งซ้ายและขวาไปแล้ว จะยกเว้นก็แต่นักการเมืองไม่กี่คน เช่น ส.ว. แรนด์ พอล จากรีพับลิกัน ผู้ซึ่งมีแนวคิดให้ความสำคัญกับเสรีภาพเป็นอันดับแรก (Libertarian) โดยมองว่าการแบน TikTok เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการพูดหรือ Free Speech หรือ ส.ส. อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส และ ส.ส. จามาล โบว์แมน จากเดโมแครต ผู้มีแนวคิดแบบซ้ายจัด ที่กล่าวว่าความกังวลเรื่องภัยความมั่นคงนั้นเป็นเรื่องในทางทฤษฎีที่ยังไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริงๆ และนี่คือความเกรงกลัวคนต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผล (Xenophobia)

 

อย่างไรก็ตาม ฉันทามตินี้อาจจะมีอยู่แค่ในชนชั้นผู้นำ เพราะชาวอเมริกันทั่วไปโดยเฉพาะชาว Gen Z อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการแบนนี้ เพราะ TikTok คือโซเชียลมีเดียยอดนิยมของพวกเขา รวมไปถึงการต่อต้านจากอินฟลูเอ็นเซอร์ทั้งหลายที่มีรายได้ในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มดังกล่าว (ซึ่งหลังจากมีกระแสข่าวเรื่อง RESTRICT Act ออกมา อินฟลูเอ็นเซอร์หลายคนก็ได้เริ่มปล่อยคลิปแนะนำให้ผู้ติดตามใช้ VPN เพื่อติดตามพวกเขาต่อหากทางการแบน TikTok จริงๆ)

 

Project Texas

 

โจวโซ่วจือ ซีอีโอของ TikTok เพิ่งเข้าไปให้ปากคำกับสภาคองเกรส โดยที่เขาพยายามจะชี้ให้สภาเห็นว่า TikTok ให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Project Texas โดยโครงการดังกล่าวนั้น TikTok จะเปลี่ยนสถานที่เก็บข้อมูล โดยจะใช้บริการบริษัทของสหรัฐอเมริกาอย่าง Oracle ที่ตั้งอยู่ที่มลรัฐเท็กซัส และอนุญาตให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบการใช้ข้อมูลได้เสมอ แต่ดูเหมือนว่าสมาชิกคองเกรสก็ยังไม่คลายความกังวลลง

 

สุดท้ายแล้ว RESTRICT Act จะผ่านสภาหรือไม่ ชาวอเมริกันจะยังมีสิทธิ์ใช้ TikTok ต่อไปหรือไม่นั้น เราคงต้องติดตามกันต่อไป

 

ภาพ: Nathan Posner / Anadolu Agency via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising