×

จับตา ‘เพดานหนี้สหรัฐฯ’ ลามเรื้อรัง ส่อกระทบความมั่นคงแห่งชาติในทศวรรษหน้า

30.01.2023
  • LOADING...
จับตา ‘เพดานหนี้สหรัฐฯ’

ความแตกแยกทางความคิดระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต สองพรรคการเมืองใหญ่ในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ทำให้หลายฝ่ายอดวิตกกังวลกับการเจรจาหาข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ 

 

เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นปัญหาทางการเงินอย่างแท้จริงในช่วงฤดูร้อนปีนี้ หากรัฐบาลสหรัฐฯ หมดหนทางจัดการชำระบัญชีค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ต่อไป 

 

Kevin McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยันว่าหนี้ก้อนโตของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอบโต้ว่าการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่พรรครีพับลิกันร้องขอเพื่อแลกกับการเพิ่มวงเงินหนี้จะทำให้ชนชั้นกลางในประเทศล่มสลาย

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า หนี้ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่มีมูลค่า 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ดูเหมือนจะไม่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เส้นทางของหนี้ในทศวรรษต่อๆ ไปอาจทำให้ความมั่นคงของชาติและโครงการสำคัญๆ รวมถึงประกันสังคมและเมดิแคร์ตกอยู่ในความเสี่ยง

 

หนี้ของประเทศคือการสะสมของการขาดดุลประจำปี หากรัฐบาลลดการใช้จ่ายหรือขึ้นภาษีก็จะสามารถลดการขาดดุลและทำให้เกินดุลได้ ซึ่งครั้งล่าสุดที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถลดหนี้สะสมได้เกิดขึ้นในปี 2011

 

อย่างไรก็ตาม Megan Greene หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ Kroll Institute กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อสูงทำให้สหรัฐฯ สั่นคลอนใกล้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การบีบให้การขาดดุลลดลงถือเป็นการเดิมพันที่อันตราย เพราะการลดการใช้จ่ายและการขึ้นภาษีจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีนักในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเสี่ยงกับภาวะถดถอยเช่นนี้ และข้อเสนอลดการใช้จ่ายในเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะช่วยให้สหรัฐฯ มีฐานทางการคลังที่ยั่งยืนมากขึ้นได้

 

กระนั้น Greene และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องมีมาตรการดำเนินการอย่างจริงจัง เข้มงวด และระมัดระวัง

 

ทั้งนี้ หากใช้แบบจำลองงบประมาณของสถาบัน Penn Wharton ในการคำนวณ พบว่า ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในขณะนี้มีมูลค่าเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GSP) ของสหรัฐฯ และคาดว่าระดับหนี้จะขึ้นแตะ 225% ของ GDP ภายในปี 2050

 

Kent Smetters ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และผู้อำนวยการ Penn Wharton กล่าวว่า เพื่อให้หนี้มีเสถียรภาพใกล้ระดับปัจจุบัน รัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายทั้งหมดลงอย่างถาวรราว 30% หรือเพิ่มรายได้จากภาษี 40% หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ซึ่งโมเดลงบประมาณการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อคนรุ่นใหม่ที่อาจติดหล่มกับความเคยชินกับการใช้จ่ายมือเติบ และต้องยอมรับกับสวัสดิการจากรัฐบาลที่น้อยกว่ารุ่นพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่มาก

 

ดังนั้น เพื่อให้ระดับหนี้มีความสมดุลกับรายได้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องมีมาตรการจัดการที่ชัดเจนเพื่อตัดลดหนี้ให้ได้ก่อนปี 2030

 

ส่วนสถานการณ์หนี้ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์มองว่ายังไม่น่ากังวลเพราะท้ายที่สุดเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถจัดการเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ไปได้ แม้ว่าจะทุลักทุเลมากก็ตาม 

 

สำนักข่าว AP รายงานว่า McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎร เตรียมเข้าพบประธานาธิบดีไบเดนที่ทำเนียบขาว ในวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหาวิธีการที่สมเหตุสมผลและมีความรับผิดชอบในการที่รัฐบาลจะสามารถยกระดับเพดานหนี้ได้ โดย McCarthy ยังคงยืนยันจุดยืนที่ต้องการให้รัฐบาลจัดการตัดลดการใช้จ่ายให้ได้ กระนั้น McCarthy ก็ให้คำมั่นว่าจะไม่มีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นแน่นอน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising