×

สหรัฐฯ เผย ‘GDP’ ไตรมาส 3 โต 2.6% สูงกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่นักวิเคราะห์ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยัง ‘เสี่ยงถดถอย’

28.10.2022
  • LOADING...

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (The National Bureau of Economic Research: NBER) ภายใต้สังกัดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 ตุลาคม) ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 2.6% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ของ Dow Jones คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.3%

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้อย่างน้อยก็ได้ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยชั่วคราว หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ NBER ถือเป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ

 

รายงานระบุว่า การเติบโตส่วนใหญ่มาจากการขาดดุลการค้าที่ลดลง ซึ่งเหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดหวังและถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวซึ่งจะไม่เกิดขึ้นอีกในไตรมาสต่อๆ ไป

 

การเติบโตของ GDP ยังมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การลงทุนคงที่ (ไม่รวมที่อยู่อาศัย) และการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งรายงานสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายด้านบริการเหนือสินค้า โดยการใช้จ่ายในอดีตเพิ่มขึ้น 2.8% ในขณะที่การใช้จ่ายสินค้าลดลง 1.2%

 

นักวิเคราะห์ชี้ สหรัฐฯ หนีไม่พ้น ‘ถดถอย’

พอล แอชเวิร์ท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อเมริกาเหนือของ Capital Economics กล่าวว่า การที่ GDP ในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวในอัตราที่มากกว่าการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น จะช่วยให้ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มสดใส อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่กลับมองว่าความแข็งแกร่งนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

 

โดยแอชเวิร์ทอธิบายว่า การส่งออกจะค่อยๆ ลดลง และอุปสงค์ในประเทศกำลังถูกกระแทกครั้งใหญ่จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง Capital Economics คาดว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

 

ความเห็นของแอชเวิร์ทสอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่มองว่าทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงไม่แน่นอนคุกคามเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาวะสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและพลังงานต่อไป และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ที่ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนหลายฝ่ายเกรงว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโตชะลอตัวจนเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

 

มาร์ก แฮมริก นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอาวุโสของ Bankrate.com กล่าวว่า ในความเห็นของตน เงินเฟ้อเลวร้ายมากกว่าอัตราว่างงานที่เพิ่มมากขึ้นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสิ่งที่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยมีตรงกันก็คือ การทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนลดลงและจำกัดให้อยู่แต่ในสิ่งที่จำเป็น ซึ่งปัจจัยข้อนี้ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่าจำนวนผู้ว่างงานในสถานการณ์นั้นจริงๆ

 

ขณะที่มุมมองของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แลร์รี ซัมเมอร์ส มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยาวนานสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่าภาวะถดถอยในระยะสั้น

 

ด้าน เจมี ไดมอน ซีอีโอของ JPMorgan ก็ยอมรับว่าภาวะถดถอยน่ากลัวน้อยกว่าเงินเฟ้อ เพราะอย่างน้อยที่สุดภาวะถดถอยก็ยังเป็นสิ่งที่จัดการรับมือได้ และที่สำคัญที่สุด ภาวะถดถอยไม่เคยรั้งอยู่ตลอดไป

 

ส่วนปฏิกิริยาตอบรับของตลาดหุ้นเป็นไปในทางบวก โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones บวกขึ้นมามากกว่า 300 จุด ในการซื้อขายช่วงเช้า และปิดการซื้อขายที่ระดับ 32,033 จุด เพิ่มขึ้น 194 จุด หรือ 0.61%

 

เมื่อวานนี้ (27 ตุลาคม) ยังมีรายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ขยับสูงขึ้นเป็น 217,000 ราย แต่ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 220,000 ราย นอกจากนี้คำสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายนจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.7%

 

ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่วัดจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเพียง 1.4% ในไตรมาสนี้ ลดลงจาก 2% ในไตรมาสที่ 2 โดยการลงทุนโดยรวมของภาคเอกชนในประเทศลดลง 8.5% ยังคงเป็นแนวโน้มต่อไปหลังจากที่ร่วงลง 14.1% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การลงทุนเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรวัดการสร้างบ้านร่วงลง 26.4% หลังจากลดลง 17.8% ในไตรมาสที่ 2 เช่นกัน สะท้อนถึงการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของตลาดอสังหาริมทรัพย์

 

ด้านการส่งออกเพิ่มขึ้น 14.4% ในขณะที่การนำเข้าลดลง 6.9% การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 2.77% จากยอดรวม ซึ่งหมายความว่า GDP โดยพื้นฐานแล้วยังคงทรงตัว

 

ขณะนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า Fed จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่สี่ในการประชุมสัปดาห์หน้า แต่หลังจากนั้นอาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในภายหลัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการประเมินผลกระทบของนโยบายต่อภาวะเศรษฐกิจ

 

เพรสตัน คาลด์เวลล์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ จาก Morningstar กล่าวว่า หลังเดือนธันวาคมน่าจะได้เห็น Fed ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising