กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว 1.6% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% และ 1.5% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ อีกทั้งยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสแรกปีนี้จะหดตัวที่ 1.5%
การหดตัวไตรมาสแรกปีนี้ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย โดยมีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2020
รายงานประเมินว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวต่อไปในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2021 ก่อนหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกโต 6.3% ส่วนไตรมาสสองมีการเติบโตที่ 6.7% ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็สามารถกลับมาขยายตัวเติบโตได้ในไตรมาสที่ 4 ที่ 6.9%
สัญญาณการเติบโตทางลบนับตั้งแต่ต้นปี กลายเป็นการตอกย้ำความกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ โดยรายงานระบุว่า ปัจจัยลบที่ฉุดเศรษฐกิจก็คือสงครามขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่สร้างแรงช็อกกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงดันราคาอาหารพุ่ง และสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการเงินและระบบห่วงโซ่อุปทาน ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางจากการระบาดของโรคโควิด
วันเดียวกัน ทางด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้กล่าวระหว่างการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่จัดขึ้นที่โปรตุเกส เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวยืนยันว่า Fed มีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรงต่อการระบาดใหญ่ของโควิด อาจจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับสู่สถานะก่อนเกิดการระบาดครั้งใหญ่หรือไม่
พาวเวลล์กล่าวว่า เศรษฐกิจในเวลานี้ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงขับที่แตกต่างกันมาก ซึ่งทำให้ไม่รู้ว่าจะย้อนกลับไปสู่สถานการณ์เหมือนก่อนได้มากน้อยแค่ไหน
การหารือครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางบรรดาประธานธนาคารกลางชั้นนำ 3 แห่ง ซึ่งถืองบดุลรวมไว้ราว 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเด็นหลักที่ใช้อภิปรายครั้งนี้คือ ‘แรงขับเคลื่อนใหม่ที่เปลี่ยงแปลงพลวัตของเงินเฟ้อ และภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก’
คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความเห็นไปในทางเดียวกับพาวเวลล์คือ ไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะกลับไปเหมือนเดิมก่อนช่วงเกิดโควิดที่เงินเฟ้อต่ำ
ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งกำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจ โดย Fed เริ่มดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเพิ่งจะลงมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1994 ที่อนุมัติให้เพิ่มด้วยขนาดดังกล่าว
นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังใช้โอกาสนี้ยืนยันความตั้งใจของ Fed ที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง โดยหมายรวมถึงการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะเสี่ยง แต่พาวเวลล์มองว่าไม่ใช่ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการที่ไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อ และทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาได้
พาวเวลล์ชี้แจงว่า Fed จะป้องกันไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อต่ำกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อสูง โดยในระยะสั้น Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อสกัดราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ Fed จะต้องสกัดคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว เพื่อไม่ให้การคาดการณ์ดังกล่าวฝังแน่นในความคิดของผู้บริโภค จนกลายเป็นปัจจัยผลักดันให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นจริงตามคาด
ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 3.1% โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อ้างอิง: