×

จับตาผลเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ คาดเปลี่ยนดุลอำนาจสู่มือรีพับลิกัน นักเศรษฐศาสตร์ตลาดหุ้นรับอานิสงส์มากสุด

10.11.2022
  • LOADING...
เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ หลังจากพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มจะครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ทำให้การผลักดันกฎหมายหรือวาระต่างๆ ของประธานาธิบดีเสี่ยงสะดุด และอาจนำไปสู่การติดขัดทางการเมืองได้

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลับมองว่าผลการเลือกตั้งเช่นนี้อาจเป็นผลดีต่อตลาดทุน และอาจไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ไม่น่าจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญได้ ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดอลลาร์ไม่น่าจะมีนัยสำคัญ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ดร.นริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าพรรคใดจะครองเสียงข้างมากในสภา โดยอธิบายว่าภาวะถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพราะว่าโมเมนตัมการฟื้นตัวในสหรัฐฯ หมดลง และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า ดังนั้น ไม่ว่าพรรคไหนจะชนะก็ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ที่มองว่าหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือใกล้จะเกิดวิกฤตจริงๆ สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าหากันและออกมาตรการฉุกเฉินมา แต่กระบวนการนี้อาจต้องมีการเจรจากันมากขึ้น

 

ผลกระทบต่อตลาดทุน

ดร.พิพัฒน์ยังมองว่า หากรีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาล่างในการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ครั้งนี้ได้จะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น

 

“สิ่งที่คนกลัวมากที่สุดคือเดโมแครตจะมาแล้วจะควบคุมทั้งสภาบน สภาล่าง และตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะว่าเดโมแครตมีแนวโน้มที่จะชอบ Big Government คนก็จะกังวลว่าถ้าเกิดกรณีนั้นจะมีความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ย หากไปดูสถิติย้อนหลังจะพบว่าถ้าประธานาธิบดีมาจากเดโมแครต แต่สภาไม่ได้มาจากเดโมแครต เช่น รีพับลิกันครองสภาบนหรือสภาล่าง หรือสภาเป็นของรีพับลิกันทั้งคู่ ตลาดทุนจะชอบ เนื่องจากจะไม่มีรัฐบาลมาสร้างความปั่นป่วน” ดร.พิพัฒน์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์เตือนว่า การแบ่งแยกของสภาอาจนำไปสู่การชัตดาวน์ (Government Shutdown) และปัญหาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) หากสภาไม่สามารถออกกฎหมายได้

 

ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

ดร.พิพัฒน์ระบุอีกว่า ผลลัพธ์การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่น่าจะเกิดขึ้น อาจจะส่งผลดีต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย แต่ก็มองว่าประเด็นปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ วันนี้อาจเลยจุด ‘การไม่มีมาตรการกระตุ้น’ (Lack of Stimulus) จะช่วยได้แล้ว และอาจจะต้องเหยียบเบรกด้วยซ้ำ ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเงินเฟ้อ

 

ขณะที่ ดร.นริศระบุว่า ปัจจัยหลักที่จะดึงให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอในปีหน้าคืออุปสงค์ (Demand) เนื่องจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยจนทุกอย่างชะลอตัวหมดอยู่แล้ว

 

ผลกระทบต่อดอลลาร์

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า ผลที่น่าจะเกิดขึ้นอาจไม่ส่งผลต่อดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้าม หากเป็นเดโมแครตกลับมาอีกครั้งแล้วออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเยอะๆ ทำให้รัฐบาลใหญ่ขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้

 

ด้าน ดร.นริศมองว่า จนถึงต้นปีหน้าวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของ Fed น่าจะยังไม่จบ โดยดอกเบี้ยอาจจะขึ้นถึง 5% ก็ได้ ทำให้อย่างไรดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนี้การเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยส่งผลต่อดอลลาร์เท่าไร โดยการเคลื่อนไหวของดอลลาร์น่าจะมาจากเศรษฐกิจโลกและนโยบายการเงินสหรัฐฯ มากกว่า

 

ผลกระทบต่อการค้า

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่ทั้ง 2 พรรคเห็นตรงกันคือไม่ชอบจีน จึงมีความเป็นไปได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการต่างๆ จะเข้มงวดกับจีนมากขึ้น ดังนั้น หากมีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลกับไทยได้เหมือนกัน

 

ขณะที่ ดร.นริศระบุว่า เท่าที่ดูหลังจากไบเดนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ผู้นำเดโมแครตก็ไม่ได้ลดนโยบายกีดกันลงเท่าไร แต่การที่รีพับลิกันกลับมา การกีดกันทางการค้าอาจจะเยอะขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X