×

สหรัฐฯ เสี่ยงหนี้บัตรเครดิตพุ่ง หลังอัตรา APR เพิ่มขึ้นเกิน 30% จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

17.11.2022
  • LOADING...
หนี้บัตรเครดิต

พิษเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลามสู่ตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต ล่าสุดอัตรา APR บัตรเครดิตพุ่งมากกว่า 30% ผู้เชี่ยวชาญเตือนอาจซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน 

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า สถานการณ์สินเชื่อบัตรเครดิตในสหรัฐฯ ส่อแววตึงเครียด หลังจากที่อัตรา APR มีแนวโน้มพุ่งสูงกว่า 30% ต่อปี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ APR คืออัตราร้อยละต่อปี ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยรายปีที่ผู้ถือบัตรจะต้องจ่ายหากมียอดคงเหลือในบัตรเครดิต โดยบัตรเครดิตบางใบมี APR ที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

 

รายงานข่าวระบุว่า อัตรา APR ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดย Matt Schulz หัวหน้านักวิเคราะห์สินเชื่อของ LendingTree กล่าวว่า จนถึงขณะนี้บัตรเครดิตค้าปลีกรายใหญ่อย่างน้อย 6 ราย รวมถึงบัตรเครดิตของบริษัทต่างๆ อย่าง Kroger, Bloomingdale’s, Macy’s, Shell, ExxonMobil และ Wayfair เพิ่งปรับเพิ่ม APR สูงสุดเป็นมากกว่า 30% แล้ว 

 

Schulz อธิบายว่า อัตรา APR ที่สูงขึ้น เป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ต้องแบกรับค่าครองชีพเพราะปัญหาเงินเฟ้ออยู่แล้ว ซึ่งในมุมมองของนักวิเคราะห์ สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้กำลังการบริโภคในสหรัฐฯ อ่อนแรงลง และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง 

 

ทั้งนี้ รายงานหนี้ครัวเรือนและสินเชื่อล่าสุดจากธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนอเมริกันมีหนี้สะสมอยู่ที่ 16.5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสที่ 3 และกำลังเพิ่มยอดคงเหลือในบัตรเครดิตในอัตราที่ไม่เคยเห็นมากว่า 20 ปี การเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และราคาที่สูงขึ้นสำหรับทุกสิ่ง ตั้งแต่การจำนองไปจนถึงราคาอาหารและราคาพลังงาน 

 

Schulz กล่าวว่า “ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดครั้งนี้ อาจทำให้เทศกาลจับจ่ายช่วงวันหยุดที่มีราคาแพงอยู่แล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก และนั่นคือสิ่งสุดท้ายที่ผู้คนต้องการ”

 

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าสังคมอเมริกันนิยมจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรมากกว่าเงินสด ซึ่งผู้บริโภคอเมริกันจะพึ่งพาบัตรเครดิตมากขึ้นในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็ยังเบาใจได้เปราะหนึ่ง เพราะหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำตามมาตรฐานในอดีต ตามรายงานของ Fed นิวยอร์ก ในเดือนกันยายนประมาณ 2.7% ของหนี้ค้างชำระอยู่ในบางขั้นตอนของการค้างชำระ ลดลงจาก 4.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 

 

Schulz เชื่อว่าการค้างชำระในเวลานี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความยืดหยุ่นของชาวอเมริกัน ในการเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

อีกปัจจัยที่น่ากังวลมากกว่า คือการที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนใหญ่ใช้บัตรโดยที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขหรือทำความเข้าใจในรายละเอียดของบริษัทที่ออกบัตร ทำให้ผู้บริโภคเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนที่เผชิญกับปัญหาสินเชื่อบัตรเครดิตมากที่สุด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเจ้าของบัตรไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน 

 

Ted Rossman นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาวุโสที่ Bankrate และ CreditCards.com กล่าวว่า บัตรเครดิตค้าปลีก ซึ่งมักจะมาพร้อมกับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลาหลายเดือน สามารถช่วยผู้บริโภคในการซื้อสินค้าจำนวนมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องแบกรับดอกเบี้ยทบต้นที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่ลำบากที่จะต้องจ่าย 

 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ถือบัตรเครดิตวงเงิน 1,000 ดอลลาร์ โดยอัตรา APR มากกว่า 30% และมีรายได้ประจำตามฐานรายได้ขั้นต่ำ คนคนนั้นก็จะเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายในช่วง 51 เดือนข้างหน้าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ 775 ดอลลาร์ 

 

“จึงสรุปได้ว่าบัตรเครดิตก็เหมือนอาวุธที่ทรงพลัง ซึ่งสามารถเป็นประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานทั้งสิ้น”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X