วันนี้ (14 พฤษภาคม) ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเจรจากันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งต่างลดภาษีให้กันและกัน เป็นพัฒนาการเชิงบวกที่ช่วยลดความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสองประเทศใหญ่ นับเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
“โดยรวมถ้าเทียบผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีระหว่างกันน้อยลง จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งของไทยและ GDP ‘ไม่ได้มากนัก’ ประมาณ 0.1% เนื่องด้วยเป็นการลดภาษีกันชั่วคราวแค่ 1 ไตรมาสเท่านั้น” ปราณีกล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2025
นอกจากนี้ ผลจากการเจรจายังได้ช่วยลดความตึงเครียดทางด้านการค้าลงไปได้ชั่วคราว เห็นได้จาก Effective Tariff Rate ของสหรัฐฯ ลดลงจากระดับ 25% เหลือ 16% ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันแรกที่ข้อตกลงกับจีนมีผล
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนได้ตกลงลดภาษีให้กันและกันในอัตรา 115% เป็นเวลา 90 วัน หรือไปจนถึงวันที่ 12 สิงหาคมนี้ โดยสหรัฐฯ ปรับลดอัตราภาษีที่เก็บจากจีนลงเหลือ 30% ขณะที่ภาษีที่จีนเก็บจากสหรัฐฯ จะเหลืออยู่ที่ 10%
ปราณีอธิบายว่า ผลจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นผลดี ที่จะส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจไทย 3 ช่องทาง ดังนี้
- ผลต่อภาคการส่งออกที่อาจจะดีขึ้น จากความต้องการสินค้าทั่วโลก (Global Demand) ที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นจาก
- ผลต่อภาคการส่งออกที่อาจจะดีขึ้น จากไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของส่งออกไปจีน และจีนส่งออกไปสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่ง ธปท. จึงคาดว่าน่าจะเห็นจีนเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ อีกระลอกภายในระยะเวลาก่อนครบกำหนด 90 วันนี้ ซึ่งนับเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย
- สินค้าที่จะทะลัก (Flooding) เข้ามาในไทยน่าจะบรรเทาลง รวมไปถึงสินค้าจีนที่แข่งกับสินค้าไทยในตลาดอื่น เนื่องจากจีนสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้บ้างแล้ว
กระนั้นปราณียังกล่าวว่า ธปท. ยังคงต้องจับตาดูผลการเจรจาของทั้งสองประเทศ หลังจากช่วง 90 วันนี้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร รวมถึงผลของการเจรจาประเทศต่างๆ เทียบกับไทยด้วย