×

“คงไม่ได้เห็นตลาดกระทิงถ้าหุ้นแบงก์กำลังร่วง” วิกฤตแบงก์สหรัฐฯ จะกระทบตลาดหุ้นแค่ไหน?

08.05.2023
  • LOADING...
วิกฤตแบงก์สหรัฐฯ

วิกฤตในกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยังไม่คลี่คลายโดยง่าย หลังจากที่ First Republic Bank ล้มลงเป็นรายล่าสุด เพิ่มความวิตกกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารในระดับภูมิภาค ซึ่งทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะถือหุ้นในกลุ่มธนาคารอีกต่อไป 

 

รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ดัชนี S&P 500 ในกลุ่มการเงิน กำลังจะถอยกลับต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2007 และหลังจากเกิดวิกฤตขึ้นในปี 2008 ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าที่หุ้นในกลุ่มธนาคารจะฟื้นคืนกลับมาได้ 

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในรอบสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ที่ปั่นป่วนไม่น้อย โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ช่วงปิดตลาดปลายสัปดาห์ที่แล้ว หุ้นของ Western Alliance Bancorp ดิ่งแรงถึง 27% และ PacWest Bancorp ร่วงหนักถึง 43%

 

แม้ว่าจะมีแรงซื้อหุ้นธนาคารขนาดใหญ่อย่าง Bank of America, Truist Financial Corp. และ SoFi Technologies Inc. จากบรรดานักลงทุนรายบุคคล แต่ความกังวลในตลาดวอลล์สตรีทยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวุ่นวายระหว่างธนาคารในภูมิภาคที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะตึงตัวในการปล่อยสินเชื่อ และยังคงต้องจับตามองต่อไปว่านักลงทุนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อไป หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณบอกใบ้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เมื่อวันพุธที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาจเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ Fed จะเริ่มมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

Jim Roppel ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ผู้ก่อตั้ง Roppel Capital กล่าวว่า หากดัชนี S&P 500 ในกลุ่มการเงิน จะต้องฝ่าด่านวิกฤตเช่นเดียวกันกับวิกฤตในปี 2007 อีกครั้ง ก็มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะเลวร้ายกว่ามากสำหรับตลาดหุ้นในวงกว้าง

 

เหตุผลเพราะแรงเทขายที่เกิดขึ้นในหุ้นกลุ่มธนาคารในปัจจุบันจะสร้างแรงกดดันต่อภาคธนาคาร บีบให้ธนาคารต้องประหยัดทุนและลดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับสูงเพื่อสกัดเงินเฟ้ออยู่ในปัจจุบัน 

 

“ภาวะตลาดกระทิงคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากหุ้นในกลุ่มธนาคารยังคงปรับตัวลง เหมือนกับการที่นักกีฬาโอลิมปิกมีก้อนอิฐมัดอยู่ที่ขา” Roppel ซึ่งมองตลาดเป็นขาขึ้นในระยะยาวแต่ปัจจุบันหันมาถือเงินสดเกือบทั้งหมด พร้อมกับหุ้นในกลุ่ม Defensive อย่างทองคำและเหมืองทองคำ

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สำหรับหุ้นแบงก์ของไทยปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากสุดเป็นอันดับ 3 รองจากพลังงานและพาณิชย์ โดยมีน้ำหนักราว 10% ของตลาด ด้วยมูลค่าตลาด 1.79 ล้านล้านบาท 

 

“ในอดีตแบงก์มักจะเป็นตัวไกด์ในเรื่องฟันด์โฟลว เพราะเมื่อต่างชาติเข้ามาเลือกลงทุนในหุ้นที่จะสะท้อนเศรษฐกิจไทยโดยตรง ก็คงหนีไม่พ้นหุ้นกลุ่มแบงก์และพาณิชย์” 

 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันคือ หุ้นแบงก์มีน้ำหนักน้อยลงมากในดัชนีสำคัญ เช่น MSCI Thailand ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดในด้านสัดส่วนของ NVDR ทำให้ 3 แบงก์ใหญ่ของไทย มีเพียง SCB ในอันดับ 16 และ KBANK อยู่ในอันดับ 22 ขณะที่ BBL ไม่ถูกคำนวณในดัชนีเพราะติดปัญหาเรื่องสัดส่วน NVDR ขณะที่ KTB อยู่ในอันดับ 26 

 

ปัจจุบัน หุ้นในดัชนี MSCI Thailand อันดับ 1 จะเป็น CPALL ตามมาด้วย AOT, PTT, BDMS และ SCC อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มแบงก์อาจจะยังสามารถสะท้อนทิศทางเงินทุนของสถาบันในประเทศและนักลงทุนรายย่อย 

 

“น้ำหนักของหุ้นแบงก์ต่อดัชนีต่างๆ ลดลงจากในอดีตค่อนข้างมาก และมีกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมาแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทรนด์ธุรกิจหรือน้ำหนักในดัชนีต่างๆ จึงเกิดคำถามว่าแบงก์จะยังเป็นตัวแทนที่ดีในการดูฟันด์โฟลวอยู่หรือไม่ อย่างในสหรัฐฯ เองหุ้นแบงก์มีน้ำหนักเพียงประมาณ 3%” 

 

สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า วิกฤตแบงก์ในสหรัฐฯ ยังไม่ได้คลายความกังวลไป และเราอาจจะเห็นปัญหาในแบงก์ขนาดเล็กอื่นๆ ตามมาได้อีก 2-3 แบงก์ ในไตรมาส 2 นี้

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับตลาดการเงินสูงถึง 3.5-4% และ 2. การแห่ถอนเงินฝากกว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์จากแบงก์เล็ก 

 

แม้ว่า Fed จะออกมาจัดการกับปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านการประกาศคุ้มครองเงินฝากและให้แบงก์ใหญ่เข้ามาช่วยอุ้ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการจัดการกับปัญหาเฉพาะส่วนที่ 2 

 

สำหรับการแก้ปัญหาแรกเราอาจต้องเห็นการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัท รวมทั้งการที่ Fed ตัดสินใจหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนในตลาดการเงิน เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มลดลง 

 

“ปัญหารอบนี้จะไม่ลามเหมือนปี 2008 เพราะวิกฤตครั้งก่อนเป็นการนำเงินไปลงทุนในความเสี่ยงสูง แต่รอบนี้เป็นการลงในพันธบัตร แม้จะมีขาดทุนบ้างแต่ไม่ได้หนักเหมือนรอบก่อน ขณะที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว” 

 

สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ Fed จะลดดอกเบี้ยจริงหรือไม่ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจะชะลอจากคำว่า Credit Crunch คือการที่แบงก์เริ่มเห็นความเสี่ยง และจะเริ่มปล่อยเงินกู้ยืมเข้ามาในระบบน้อยลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 โดยติดลบประมาณ 0.5-1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า 

 

ทั้งนี้ หุ้นแบงก์ในฝั่งของเอเชียและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ รวมทั้งไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ช่วงไตรมาสแรกจะเห็นว่าแบงก์สหรัฐฯ ตั้งสำรองสูงขึ้น 60% ในขณะที่แบงก์ไทยตั้งสำรองค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มจะตั้งสำรองน้อยลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มจะสูงขึ้น รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่น่าจะสูงขึ้นเช่นกัน 

 

ด้าน รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่าย Global Investing บล.บัวหลวง มองไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตแบงก์สหรัฐฯ น่าจะส่งผลกระทบจำกัดแค่ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดหุ้นสะท้อนว่านักลงทุนเริ่มกังวลน้อยลง 

 

“ในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีแบงก์สหรัฐฯ ปิดตัวอยู่เรื่อยๆ แบงก์ในสหรัฐฯ มีอยู่นับพันราย ต่างจากของไทยที่มีแค่ 10 ราย หากจะดูเสถียรภาพด้านการเงินต้องดูที่แบงก์ใหญ่” 

 

ส่วนความเสี่ยงเรื่อง Recession รุนแรงในสหรัฐฯ น่าจะลดลง สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ระดับ 3.4% ต่ำกว่าคาดการณ์ และต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมที่ระดับ 2.5 แสนตำแหน่ง ก็ยังสูงกว่าคาดการณ์ที่ 1.8 แสนตำแหน่ง เช่นเดียวกับผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น Apple, Meta เริ่มเห็นยอดขายที่ฟื้นตัวได้ในส่วนสำคัญ และกำไรชะลอตัวในอัตราที่ลดลง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X