×

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จี้เปิดข้อมูล 90% ของสินค้าสหรัฐฯ ที่ให้ภาษี 0% หวั่น SME เจ๊งเพิ่ม แนะรัฐเร่งออกมาตรการรองรับ

24.07.2025
  • LOADING...
แสงชัย ธีรกุลวาณิช แสดงความกังวลเรื่องภาษี 0% สินค้าสหรัฐต่อ SME ไทย

เงื่อนไขที่ทีมไทยแลนด์เสนอภาษี 0% ให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 90% ในรายละเอียดยังขาดความชัดเจนว่าเป็นสินค้าประเภทใดบ้าง จึงประเมินผลกระทบได้ยาก ส่งผลให้ SME เริ่มกังวลว่าอาจเป็นอีกปัญหามาซ้ำเติมภาค SME ให้กิจการเพิ่มอีก

 

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ถึงกรณีที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการเหลือ 0% เพื่อเป็นหนึ่งในเงื่อนไขเพื่อแลกกับการขอลดภาษีสินค้าของไทยที่สหรัฐฯ ประกาศจะเก็บในอัตรา 36% โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพิจารณาผลกระทบในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกลุ่ม SME และภาคเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ

 

แสงชัยกล่าวว่า การพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% นั้นไม่สามารถมองในภาพรวมได้ แต่ต้องพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้าและผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีฐานผู้ผลิต SME หรือเกษตรกรจำนวนมากและมีความเปราะบางในการแข่งขัน

 

ผลกระทบต่อภาคเกษตร กรณีศึกษา ‘เนื้อหมู’

 

แสงชัย ยกตัวอย่าง ‘เนื้อหมู’ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่น่ากังวลอย่างยิ่งเพราะมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรที่เป็น SME จำนวนมาก หากมีการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านต้นทุนการผลิตระหว่างไทยและสหรัฐฯ ดังนี้

 

  • สหรัฐฯ มีฟาร์มขนาดใหญ่ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่ำ ทำให้ราคาหมูต่อกิโลกรัมอยู่ที่ประมาณ 1.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาด SME ต้นทุนการผลิตสูงกว่า ทำให้ราคาหมูต่อกิโลกรัมอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“หากหมูจากสหรัฐฯ เข้ามาในราคาที่ต่ำกว่า แม้จะรวมค่าขนส่งแล้ว ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศกว่า 150,000 ราย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้” แสงชัยกล่าว

 

จี้เปิดข้อมูล 90% ของรายการสินค้าสหรัฐฯ ให้ภาษี 0% คือกลุ่มไหน

 

ประเด็นสำคัญที่แสงชัยตั้งคำถามคือ รายละเอียดของข้อมูลรายการสินค้า 90% ที่รัฐบาลเสนอให้สหรัฐฯ นำเข้าโดยลดภาษีเหลือ 0% ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะยังขาดความชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนและเกษตรกรไม่สามารถประเมินผลกระทบที่แท้จริงได้

 

 ภาพ: แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

 

“เราไม่ได้ปฏิเสธการลดภาษี หากไม่กระทบผู้ประกอบการและเกษตรกรในประเทศ แต่หากกระทบจนทำให้พวกเขาต้องปิดกิจการหรือปลดพนักงาน รัฐบาลจะต้องมีมาตรการชดเชยหรือแผนรองรับที่ชัดเจน” แสงชัยกล่าว

 

มาตรการรองรับที่สมาพันธ์ฯ เสนอแนะ ได้แก่ มาตรการทางการเงิน การปรับเปลี่ยนตลาด การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย

 

ความกังวลเรื่อง ‘ภาษีทรัมป์ – ปัญหา Transhipment’

 

นอกจากประเด็น FTA แล้ว ยังแสดงความกังวลต่อภาษีทรัมป์ ซึ่งหากกำหนดอัตราที่ 20% กับไทยก็ยังถือว่าไทยพอจะแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคได้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือ เงื่อนไขแฝง ที่สหรัฐฯ อาจกำหนดเพิ่มเติมเข้ามาแลกกับการลดภาษี และมาตรการตอบโต้การ Transhipment หรือการสวมสิทธิ์สินค้า

 

“หากสินค้าไม่ได้ผลิตในประเทศไทย แต่เป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นเพื่อสวมสิทธิ์ส่งออกสหรัฐฯ ภาษีที่เรียกเก็บจะถูกคำนวณจากอัตราภาษีของไทยรวมกับอัตราภาษีของประเทศต้นทาง ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบและถูกตอบโต้ได้” แสงชัย อธิบาย

 

ดังนั้น รัฐบาลต้องมีกลไกกำกับดูแลเรื่อง Transhipment และสินค้าสวมสิทธิ์อย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นเครื่องมือและได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการไทยบางรายไปร่วมมือกับต่างชาติในการทำ Transhipment

 

ภาระหนี้สินสูง ปัญหาใหญ่ที่เร่งด่วน ของ SME ไทย

 

แสงชัยย้ำว่า ปัญหาเร่งด่วนและน่ากังวลที่สุดสำหรับ SME ไทยในขณะนี้คือ ปัญหาภาระหนี้สินที่สูงของ SME ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ ที่เป็นปัญหาปัจจัยฉุดรั้งไม่ให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

ทั้งนี้จากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั่วประเทศกว่า 2,700 รายที่ตอบแบบสอบถาม พบผลสำรวจ ดังนี้

 

  • 4.7% ของ SME มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจ ‘แย่’
  • 52% มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจ ‘ค่อนข้างแย่’
  • 42.8% มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจ ‘ทรงตัว’
  • 0.5% มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจ ‘ดี’

 

ดังนั้น หมายความว่าเกือบ 57% ของ SME ทั่วประเทศที่ตอบแบบสอบถาม มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ ‘แย่’ ถึง ‘ค่อนข้างแย่’ และเกินครึ่งมีภาระหนี้นอกระบบ โดยสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านค้าปลีกรายย่อย เริ่มส่งสัญญาณออกมาเสียงดังขึ้นว่า ‘ไปต่อไม่ไหวแล้ว’ จนต้องทยอยปิดกิจการ และส่งผลให้มีการปลดพนักงานลง

 

“ภาระหนี้สินนี้เป็นปัญหาใหญ่กว่าภาษีการค้าใดๆ เพราะมันทำให้ SME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือขยับขยายกิจการได้ และหากมาตรการภาษีการค้าออกมาไม่ดี ก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้สินให้วิกฤตมากขึ้น ซึ่งผลกระทบจากภาษีอาจไม่เห็นผลในทันที แต่จะเริ่มปรากฏในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ซึ่งประเด็นผลกระทบภาษีสหรัฐฯ อาจจะมาซ้ำเติมเพิ่มจากปัญหาภาระหนี้สินสูงของ SME ให้มีความเสี่ยงปิดกิจการเพิ่มเติม หากไม่เตรียมมาตรการช่วยเหลือรับมือให้พร้อม” แสงชัย กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising