วันนี้ (8 เมษายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกำหนดการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจากับเกี่ยวกับการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าของไทย ว่า ขอรอฟังความชัดเจนหลังประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐฯ ช่วงเวลา 13.00 น. ที่จะมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อน
รอคณะทำงานนโยบายการค้าฯตัดสินใจเลือกสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ
ด้าน นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการเปิดรับสินค้าเกษตรกรรมจากสหรัฐฯ ว่า ต้องดูว่าไทยนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอะไรบ้าง พร้อมตรวจสอบว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีสวมสิทธิ์ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่นายกฯ ตั้งขึ้น
ส่วนจะมีการนำเข้าสินค้าประเภทใดบ้างเพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรไทยนั้น ต้องดูว่าสินค้าใดที่ไทยจำเป็นต้องใช้และไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไทย หากการนำเข้ามามีราคาต่ำกว่าต้นทุนสินค้าของไทย ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียดของแต่ละประเภทสินค้า
พร้อมกันนี้นภินทรยังเปิดเผยว่ารับทราบถึงข้อเรียกร้องของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร ที่เกรงว่าไทยจะนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ จนกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ยืนยันว่า ได้ส่งข้อมูลให้คณะเจรจาซึ่งมีอำนาจที่จะพิจารณาตัดสินใจ
นฤมลยืนยันไม่ยอมแลกผลประโยชน์เกษตรกรไทยดีลการค้าสหรัฐฯ
นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอของกระทรวงฯ ต่อการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐฯ ช่วงบ่ายนี้ ก่อนที่ทีมไทยจะเดินทางไปเจรจา ว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ต้องดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร และให้ข้อคิดเห็นกับผู้ที่จะเดินทางไปเจรจา เพราะกระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่ผู้เจรจา จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อเกษตรกร
ส่วนการคัดค้านของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องการสะท้อนข้อมูล รวมถึงผลวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค
พร้อมย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ จะเป็นประเด็นการประกอบการตัดสินใจของทีมเจรจาที่จะไปเสนอต่อสหรัฐฯ เพราะเมื่อเราจะไปเจรจาอะไรต้องดูผลประโยชน์คนไทยเป็นหลัก แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร และส่วนตัวไม่ต้องการให้เอาภาคเกษตรไปแลกให้ภาคอื่นๆ ซึ่งเจ้าของอาจไม่ใช่คนไทยด้วยซ้ำ บางทีอุตสาหกรรมต่างๆ อาจเป็นต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยใช้ไทยเป็นทางการผลิต จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ คัดค้านนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ
ขณะที่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรรวมตัวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และ 3 รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ขอคัดค้านการเปิดให้นำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ เข้ามายังประเทศไทย เพราะมองว่าจะเป็นการทำลายคนเลี้ยงไทย หลังฯ สหรัฐ กดดันไทยด้วยการประกาศขึ้นภาษี
สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ผู้เลี้ยงสุกรมารวมตัวเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ เพราะปัจจุบันประเทศไทย มีการเลี้ยงสุกรที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว แม้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรไทยสูงกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนอาหาร แต่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงกว่า เพราะอาหารสัตว์ของสหรัฐฯ อาจมีสารเร่งเนื้อแดงจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
สิทธิพันธ์กล่าวอีกว่า การนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ จะทำให้ผู้เลี้ยงสุกรไทยกว่า 200,000 รายได้รับผลกระทบ และทำให้ระบบผู้เลี้ยงสุกรไทยได้รับผลกระทบ พร้อมย้ำว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใดๆ ในประเทศ ต้องเป็นการนำเข้าในจำนวนที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศเท่านั้น
การยื่นข้อเสนอของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีแนวทางแก้ปัญหาการเกินดุลกับสหรัฐฯ ตามแนวทางเดียวกับสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ โดยขอให้รัฐบาลละเว้นการพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าสุกร ทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในเข้ามายังประเทศไทย ที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทย
หลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกรในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย สินค้าสุกรของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนหลักของประเทศ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตั้งแต่รองรับพืชผลทางการเกษตรวัตถุดิบอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สุกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมากมาย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีทั้งระบบกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี
สิทธิพันธ์พร้อมกล่าวเสนอแนะว่า เราอาจจะเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพืชอาหารสัตว์มาซื้อจากสหรัฐฯ มากขึ้น ก็จะทำให้การเจรจาของรัฐบาลไทยยิ่งขึ้น โดยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และ DDGS ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับสหรัฐฯ ในการส่งสินค้ามายังประเทศไทยได้เป็นจำนวนถึง 84,000 ล้านบาท หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตามข้อเสนอของสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568