×

หาก ‘ไทย’ ตามรอย ‘เวียดนาม’ เปิดตลาดเสรี คิดภาษีสินค้าสหรัฐฯ 0% ยกแผง แลกดีลภาษีต่ำ ได้คุ้มเสียหรือไม่?

09.07.2025
  • LOADING...
us-thailand-36percent-tariff

HIGHLIGHTS

  • สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ใหม่ ไทยโดนภาษีในอัตรา 36% ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
  • KKP มองว่า สหรัฐฯ กำลังกดดันให้ไทยเลือกระหว่าง ‘ภาคอุตสาหกรรม’ ที่คิดเป็น 20% ของ GDP และ ‘ภาคเกษตร’ ที่เป็นแหล่งจ้างงาน 30% ของแรงงานไทย พร้อมประเมินทรัมป์ขึ้นภาษีไทยจาก 10% เป็น 36% กระทบ GDP ทั้งปี 0.5%
  • ‘กอบศักดิ์’ เสนอ ไทยต้องยอมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ยอมเสียประโยชน์บางส่วน พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยากลุ่มที่ถูกกระทบ
  • KResearch ห่วงภาษีทรัมป์ซ้ำเติมปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ชี้ส่งออกของไทยหยุดนิ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อนบ้านและคู่แข่งเร่งแซง
  • UOB มองบวก เชื่อไทยยังแข่งขันได้ แม้สุดท้ายสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม สหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายให้กับ 14 ประเทศ เพื่อประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ใหม่ โดยกำหนดให้สินค้าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ จะโดนภาษีในอัตรา 36% ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

 

อัตรา 36% ที่สหรัฐฯ เคาะให้ไทยนับว่า ‘ไม่น่าแปลกใจ’ สำหรับ ‘บางคน’ หลังจากเห็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม ที่เวียดนามเสนอและตกลงยกเลิกภาษีให้สหรัฐฯ ‘ทั้งหมด’ เหลืออัตรา 0% ก็แล้ว แต่สหรัฐฯ ยังกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามในอัตรา 20% สำหรับสินค้าทั้งหมด และ 40% สำหรับสินค้าที่มีการส่งผ่าน (Transshipping) มาจากประเทศอื่น 

 

เมื่อเปรียบเทียบข้อเสนอของไทยกับเวียดนามแล้วจะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากไทยยืนยันว่า จะยอมให้ภาษีในอัตรา 0% กับสินค้าสหรัฐฯ ‘ส่วนใหญ่’ เท่านั้น ‘ไม่ใช่ทั้งหมด’  พร้อมยืนยันยึดหลักการผลประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win) โดยเฉพาะในภาคการเกษตรต่อไป

 

สถานการณ์ปัจจุบัน นำมาสู่คำถามที่ว่า ไทยควรเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ทั้งหมดหรือไม่? หรือควรยึดถือผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ พร้อมกับปกป้องตลาดในประเทศไทยบางส่วนต่อไป ไทยควรเลือกทางใดถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด?

 

ไทยจำเป็นต้องเปิดตลาด ‘ทั้งหมด’ อย่างเวียดนามหรือไม่?

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า ไทยอาจไม่จำเป็นต้องเปิดตลาดทั้งหมด โดยมองว่าในกรณีของเวียดนาม ซึ่งได้ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยการ ‘เปิดตลาดสินค้าเกือบทั้งหมด’ นับเป็นกรณีที่ค่อนข้างสุดโต่ง และอาจมีประเด็นกับองค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากเป็นการทำข้อตกลงแบบ Preferential Treatment ไม่ใช่ MFN Basis แบบที่ WTO กำหนด (ซึ่งหมายถึงการเสนอดีลแบบใดให้ประเทศหนึ่งต้องเสนอแบบเดียวกันให้กับทุกประเทศด้วย)

 

นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังชี้ว่า ในรายงานของ USTR ได้ระบุมาแล้วว่า ไทยมีประเด็นกีดกันการค้าใดกับสหรัฐฯ บ้าง โดยแบ่งเป็น ประเภทมาตรการภาษี (Tariff Barriers) และมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ดังนี้

 

  • มาตรการภาษี (Tariff Barriers) เนื่องจากประเทศไทยเก็บอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงกว่าที่สหรัฐฯ เก็บจากสินค้าไทยมาตั้งแต่ก่อนยุคประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งบางรายการอาจถูกเก็บภาษีสูงถึง 30-50%
  • มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers ตัวอย่างเช่น การขอใบอนุญาตนำเข้า (Import Licensing) ขั้นตอนการปฏิบัติที่อาจนำไปสู่การคอร์รัปชันหรือความล่าช้า ซึ่งทำให้ต้นทุนการค้าสูงขึ้น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary – SPS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมู ซึ่งไทยอ้างว่ามีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ และสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยระบุว่าระดับสารที่ไทยยอมรับได้อยู่ที่เท่าไหร่ แต่ไทยยังไม่ได้แจ้งกลับ ทำให้การนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ถูกแบน

 

ดังนั้น ดร.พิพัฒน์จึงตั้งสังเกตว่า “ภาคส่วนที่อ่อนไหวและขัดแย้งของไทยกับสหรัฐฯ น่าจะเป็น ‘ภาคการเกษตร’ เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นต้น”

 

สหรัฐฯ กำลังบีบไทย ‘ให้เลือก’ ระหว่างภาคอุตสาหกรรม vs. ภาคเกษตร

 

ดร.พิพัฒน์ วิเคราะห์อีกว่า ดูเหมือนว่า สหรัฐฯ กำลังบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องเลือกระหว่าง (1) ภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก และภาคการลงทุน กับ (2) ภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวสูงอย่างเช่น ภาคเกษตรกรรมและอาหาร

 

โดยดร.พิพัฒน์อธิบายอีกว่า หากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงที่ 36% จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ‘มากกว่า’ ทั้งในแง่การส่งออก การลงทุน และความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของ GDP ไทย

 

อย่างไรก็ตาม หากไทยเลือกยอมเปิดตลาดเกษตรเพื่อขอลดอัตราภาษี ก็อาจจะกระทบชีวิตคนเยอะกว่า เนื่องจากภาคเกษตรกรรม แม้คิดเป็นเพียง 8% ของ GDP แต่กลับมีการจ้างงานคิดเป็น 30% ของกำลังแรงงานประเทศ

 

“ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมผู้ผลิตเนื้อหมู ที่มีการออกมาประท้วงและมีการพูดถึงกันมา มีสัดส่วนต่อ GDP เพียง 1% กว่า ๆ เท่านั้น แต่อุตสาหกรรมนี้มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ”

 

‘กอบศักดิ์’ เสนอต้องยอมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ยอมเสียประโยชน์บางส่วน พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยากลุ่มที่ถูกกระทบ

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ในส่วนของสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายในสินค้าเกษตรบางตัวที่ระบุไว้ในรายงานของ USTR ให้ประเทศคู่ค้ารวมทั้งประเทศไทยยอมเปิดตลาดสินค้าให้ เช่น ถั่วเหลืองและสินค้าปศุสัตว์บางชนิด ซึ่งอาจเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์ เสนอแนวคิดว่า หากประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษี 0% จริง ๆ เพื่อแลกกับการได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีโดยรวม สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาว่า ‘อะไรคือสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้จริง ๆ’ เช่น สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานสุขอนามัย หรือสินค้าที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรไทยโดยตรง

 

โดยหากมีความจำเป็นต้องเปิดตลาดในบางส่วน มองว่ารัฐบาลควรเตรียมงบประมาณสำหรับมาตรการเยียวยา เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การเยียวยาอาจอยู่ในรูปของการสนับสนุนให้ปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่ตลาดมีความต้องการ การเจรจาการค้าเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ต้องยอมเสียไป เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดินหน้าได้ และเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมเติบโต ก็จะมีรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

ดร.กอบศักดิ์ ยังให้ข้อคิดว่า การเปิดให้มีการแข่งขันอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป โดยยกตัวอย่างกรณีของจีนที่เคยปกป้องอุตสาหกรรม EV ของตนเอง แต่เมื่อเปิดให้ Tesla เข้ามาแข่งขัน กลับทำให้ผู้ผลิต EV ของจีนพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพิจารณาเปิดตลาดในบางสินค้าที่ไทยอาจไม่ได้มีความได้เปรียบในการผลิต หรือสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล้ว อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศด้วยการเข้าถึงสินค้าที่ราคาถูกลง ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อภาคส่วนที่อ่อนไหว

 

พร้อมทั้งเสนอว่าประเทศไทยมีทางเลือกไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือการยอมรับสภาพที่ 36% หรือการกลับไปเจรจาเพื่อขออัตราภาษีที่ดีขึ้น โดยชี้ว่าอัตรา 25% เป็นจุดที่ภาคเอกชนไทยพอจะรับได้ หากแตกต่างกับคู่แข่งไม่เกิน 5% แต่หากต่างถึง 10-16% จะเป็นเรื่องยากและกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก

 

ทั้งประเด็นสำคัญคือการที่เวียดนามสามารถลดภาษีจาก 46% เหลือ 20% ได้ แสดงให้เห็นว่าการเจรจาเป็นไปได้ แต่ต้องแลกกับการที่เวียดนามเปิดให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดได้อย่างเต็มที่ หรือที่เรียกว่าภาษี 0% Total Access คำถามคือ ประเทศไทยจะสามารถให้ข้อเสนอแบบเดียวกับเวียดนามได้หรือไม่ ซึ่งอาจต้องพิจารณาเปิดตลาดในบางภาคส่วนที่เราไม่ได้ผลิตเอง เช่น อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท หรือยานยนต์บางชนิด เพื่อแลกกับการได้ภาษีที่ลดลง

 

อย่างไรก็ดี หากการเจรจาไม่เป็นผล และไทยต้องแบกรับภาษี 36% ประเมินว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจหายไปถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ไทยจะเสียเปรียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอาจกระทบต่อ FDI ในอนาคต แต่ก็ชี้ว่าไทยควรเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เช่น อินเดีย จีน อาเซียน และกลุ่มตะวันออกกลางที่กำลังเติบโต เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ

 

KKP ประเมินไทยโดนภาษี 36% กระทบ GDP 0.5%

 

KKP ประเมินว่า หากไทยโดนภาษีจากสหรัฐฯ เพิ่มจาก 10% เป็น 36% จะมีผลกระทบเพิ่มเติม (Additional Impact) ต่อ GDP อยู่ที่ 0.4-0.5% ของ GDP ทั้งปี (Full Year)

 

ดังนั้น หากสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตรา 36% ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ก็น่าจะฉุด GDP ในปี 2568 ของไทยลง 0.2% เท่านั้น

 

“แม้ตัวเลขอาจดูไม่เยอะ แต่ผลกระทบด้านความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ยังน่าเป็นห่วง ดังนั้น หลายภาคส่วนอาจจำเป็นต้องเริ่มพิจารณาการเปิดเสรีและลดการคุ้มครอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคส่วนนั้นๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวในทันทีเป็นเรื่องยาก และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว รวมถึงกลไกการช่วยเหลือต่างๆ ในระยะสั้นด้วย” พิพัฒน์กล่าว 

 

“ถ้ามองในแง่ดี เหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การปฏิรูปความสามารถในการแข่งขันในบางภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการปกป้องเป็นเวลานาน อย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรบางชนิด ซึ่งต้องยอมรับจริงๆ ว่า เป็นภาคที่อ่อนไหวมาก และกระทบกับคนค่อนข้างเยอะ และอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างพอสมควร” ดร.พิพัฒน์กล่าว

 

KResearch ห่วงภาษีทรัมป์ซ้ำเติมปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

 

สอดคล้องกับ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) เตือนว่า ขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) ของไทยกำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ ต่อให้ไม่มีสถานการณ์ภาษีรอบนี้ก็ตาม โดยจะเห็นได้ว่า การส่งออกของไทยหยุดนิ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรือประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น เม็กซิโก กลับมีส่วนแบ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

เกวลินยังชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยต่ำลงได้แก่ ทักษะแรงงานที่อาจต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และต้นทุนการประกอบกิจการที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีสิทธิประโยชน์จูงใจทางภาษีที่เพียงพอ หรือประเทศอื่นๆ มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ขณะที่จำนวนประชากรไทยกำลังลดลง รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ก็เป็นสาเหตุที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งเลือกที่จะไม่ลงทุนในไทย

 

UOB เชื่อไทยยังแข่งขันได้ แม้สุดท้ายสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม

 

สถิตย์ แถลงสัตยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นเหมือน Wake-Up Call ให้ไทยต้องปรับตัว” 

 

โดยชี้ว่า ที่ผ่านมา การส่งออกของเราพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 1 ใน 5 แต่จากสถานการณ์นี้เราต้องปรับตัว แต่แน่นอนว่าการหาตลาดใหม่ต้องใช้เวลา และแม้ว่าเราอยากจะเห็นอัตราภาษีไม่เกิน 20% แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้

 

“หวังว่าทีมไทยแลนด์จะใช้ข้อต่อรองที่ไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจ เช่น ความสัมพันธ์อันยาวนาน การเป็นพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาค เชื่อว่าเรายังมีหวังที่จะเห็นตัวเลข 20%”

 

แต่หากท้ายที่สุดแล้ว ไทยถูกขึ้นภาษีในอัตราที่สูงกว่า 20% สูงกว่าประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกอย่างเวียดนาม เราก็ต้องบริหารจัดการส่วนอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ การพิจารณาลูกค้าว่าอ่อนไหวกับราคาสินค้ามากขนาดไหน การบริหารต้นทุน รวมทั้งกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในระยะยาว

 

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าคนละกลุ่มกับไทย เพราะฉะนั้นไทยควรโฟกัสที่เวียดนาม โดยพยายามเจรจาให้ได้ภาษีเท่ากัน แต่ถ้าไม่ได้เราจะเสียเปรียบด้านต้นทุนราคาสินค้า

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่เวียดนามยอมเปิดเสรีกับสินค้าสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเพราะเวียดนามพึ่งพิงสหรัฐฯ คิดเป็น 40% ของการส่งออก และจากการส่งออกทั้งหมดก็มาจากบริษัทต่างชาติที่ตั้งฐานผลิตในเวียดนามถึง 80% ทำให้บริษัทเหล่านี้กดดันเวียดนามให้เจรจาให้สำเร็จอย่างที่เราเห็น

 

“แต่อยากจะย้ำว่าภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศของธุรกิจ ความง่ายในการทำธุรกิจ และกฎระเบียบ ถ้าเราทำเรื่องพวกนี้ได้ดีเราก็ยังสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งทักษะแรงงานของไทยก็ไม่ธรรมดา”

 

อย่างไรก็ตาม หากไทยถูกขึ้นภาษีมากกว่าคู่แข่ง สองอุตสาหกรรมที่น่าห่วงที่สุดคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคิดเป็น 60% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ถือเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างกระจุกตัว สิ่งที่ต้องพยายามปรับตัวคือเรื่องราคา ต้นทุน และพันธมิตร

 

หนึ่งในข้อเสนอที่อาจตอบโจทย์ความต้องการของสหรัฐฯ คือการเปิดเสรีโดยไม่เก็บภาษีนำเข้า ไทยสามารถเปิดเสรีได้ในบางอุตสาหกรรมซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคด้วย เช่น โทรคมนาคม หรือสถาบันการเงิน ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ อาจเลือกเปิดเสรีในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล้ว ส่วนเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปอาจต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม

 

ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยมาก และน่าจะเป็นอุตสาหกรรมความหวังของไทยคือ Healthcare และ Wellness

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising