กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งระงับความช่วยเหลือสำหรับประเทศต่างๆ เกือบทั้งหมดทั่วโลก โดยจะมีผลทันทีหรือเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive Order) ให้ระงับความช่วยเหลือประเภทดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 มกราคม) มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งเอกสารไปยังหน่วยงานด้านการทูตทุกแห่งของสหรัฐฯ โดยให้หยุดส่งความช่วยเหลือสำหรับต่างประเทศ และระงับความช่วยเหลือใหม่ๆ ด้วย ซึ่งจะกระทบต่อเงินทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่กระทรวงการต่างประเทศและองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ส่งไปช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ทั่วโลก
ความเคลื่อนไหวนี้จะกระทบโลกอย่างไร
สำนักข่าว CNN ซึ่งได้เห็นเอกสารดังกล่าวรายงานว่า คำสั่งระงับดังกล่าวครอบคลุมการช่วยเหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ มีอยู่ เว้นแต่จะมีคำสั่งให้ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ฉะนั้นจึงคาดการณ์ว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดจะกระทบต่อการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพ การพัฒนา การทหาร หรือแม้แต่การแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด
สำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับการยกเว้นจะมีแค่ความช่วยเหลือด้านอาหารฉุกเฉินและเงินทุนทางทหารที่ส่งไปสนับสนุนอิสราเอลและอียิปต์เท่านั้น โดยเอกสารไม่ได้ระบุว่าประเทศอื่นๆ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือทางทหารเป็นประจำ เช่น ยูเครนหรือไต้หวัน จะได้รับการยกเว้นหรือไม่
โครงการต่อต้านเชื้อ HIV ที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกอย่างแผนบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินของประธานาธิบดีเพื่อการบรรเทาทุกข์ด้านเอดส์ (The United States President’s Emergency Plan for AIDS Relief: PEPFAR) ก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยโครงการนี้ได้รับการยกย่องว่าช่วยชีวิตผู้คนได้ถึง 25 ล้านคน รวมถึงเด็ก 5.5 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
เอกสารยังระบุด้วยว่า ภายในเดือนหน้า ฝ่ายบริหารจะพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานสำหรับตรวจสอบว่าความช่วยเหลือที่จะส่งให้ต่างชาตินั้นสอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์หรือไม่ และภายใน 3 เดือนคาดว่าการพิจารณาทั่วทั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จ และจะมีการจัดทำรายงานฉบับต่อไปเพื่อให้รูบิโอเสนอคำแนะนำต่อประธานาธิบดี
ในแถลงการณ์ต่อสาธารณชน รูบิโอกล่าวว่า “เงินทุกดอลลาร์ที่เราใช้จ่าย โปรแกรมทุกโปรแกรมที่เราให้ทุนสนับสนุน และนโยบายทุกนโยบายที่เราดำเนินการ จะต้องได้รับการพิสูจน์ด้วยการตอบคำถามง่ายๆ 3 ข้อ ได้แก่ มันทำให้อเมริกาปลอดภัยขึ้นหรือไม่ มันทำให้อเมริกาแข็งแกร่งขึ้นหรือไม่ และมันทำให้อเมริกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นหรือไม่”
องค์กรด้านมนุษยธรรมว่าอย่างไร
ผลกระทบจากการหยุดให้ความช่วยเหลือจะมีมหาศาล เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาโดยตลอด โดยมีงบประมาณราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2023 หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของงบประมาณของสหรัฐฯ
InterAction ซึ่งเป็นพันธมิตรขององค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ ระบุในแถลงการณ์วานนี้ว่า การระงับความช่วยเหลือ “จะขัดขวางภารกิจในการช่วยชีวิตผู้คน ซึ่งรวมถึงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับทารก การศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก การยุติการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็กผู้หญิง และการจัดหายาให้กับเด็กและผู้ป่วยโรคต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หยุดชะงัก เช่น ไต้หวัน ซีเรีย และปากีสถาน”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งไม่เปิดเผยตัวตนกล่าวว่า องค์กรให้ความช่วยเหลือชั้นนำบางแห่งตีความคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นคำสั่งให้หยุดปฏิบัติงานทันที ทำให้องค์กรหลายแห่งอาจหยุดให้ความช่วยเหลือทันที เพื่อไม่ให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
แอ็บบี้ แม็กซ์แมน ประธานและซีอีโอของ Oxfam America กล่าวว่า การระงับเงินทุนอาจส่งผลต่อความเป็นความตายของเด็กๆ และครอบครัวทั่วโลก โดยระบุในแถลงการณ์ว่า “การที่รัฐบาลทรัมป์ระงับความช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมความช่วยเหลือต่างประเทศ ถือเป็นการคุกคามชีวิตและอนาคตของชุมชนที่อยู่ในภาวะวิกฤต อีกทั้งยังเป็นการละทิ้งแนวทางการช่วยเหลือต่างประเทศที่สหรัฐฯ ยึดถือมานาน ซึ่งเน้นให้การสนับสนุนประชาชนโดยไม่คำนึงถึงเรื่องการเมือง”
ภาพ: Nathan Howard / Reuters
อ้างอิง: