ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดท้ายสัปดาห์อย่างแข็งแกร่งในวันศุกร์ (2 พฤษภาคม) โดยดัชนี S&P 500 เดินหน้าทำสถิติปรับตัวขึ้นติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบกว่า 20 ปี พร้อมทั้งฟื้นตัวกลับไปยืนเหนือระดับก่อนเกิดความผันผวนจากประเด็นกำแพงภาษีเมื่อต้นเดือนเมษายนได้สำเร็จ หลังจากข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดและความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 1.4% มาปิดที่ 5,693.84 จุด ทะลุระดับที่เคยทำไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะประกาศเรื่องของกำแพงภาษี (Reciprocal tariffs) ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด ขณะที่ดัชนี NASDAQ 100 ปรับตัวขึ้น 1.6% และดัชนี Dow Jones Industrial Average เพิ่มขึ้น 1.3% มาปิดที่ 20,188.35 จุด และ 41,346.59 จุด ตามลำดับ
การรายงานตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 2 ปี และการปรับขึ้น 9 วันทำการติดต่อกันรวมกว่า 10% ถือเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 ยิ่งไปกว่านั้น จากสถิติในอดีต 31 ครั้งที่ดัชนีปรับขึ้นต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ ไม่เคยมีการปรับขึ้นครั้งใดที่รุนแรงเท่าครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นร้อนแรง แต่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนลดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
เดฟ มาซซา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Roundhill Financial ให้ความเห็นว่า “นักลงทุนหันมาให้น้ำหนักกับความชัดเจนมากกว่าความสับสนวุ่นวาย โดยประเมินว่าการบรรลุข้อตกลงทางการค้าแม้จะเจ็บปวดบ้าง ก็ยังดีกว่าความไม่แน่นอนทางนโยบายแม้จะยังไม่มีรายละเอียดก็ตาม”
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงกลางวัน หลังจาก The Wall Street Journal รายงานว่า จีนกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ เพื่อจัดการกับข้อกังวลของรัฐบาลทรัมป์เกี่ยวกับบทบาทของจีนในการค้าเฟนทานิล
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 138,000 ตำแหน่ง เป็นสัญญาณว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ที่ 4.2% ตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งนี้อาจทำให้ Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้นานขึ้น เพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการภาษีต่อการเติบโตและเงินเฟ้อ
“ในแง่หนึ่ง ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งทำให้การลดดอกเบี้ยเป็นไปได้ยากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็บ่งชี้ว่าการสูญเสียตำแหน่งงานไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่กลัว และให้ความชัดเจนว่าความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดสามารถเลื่อนออกไปได้” มาซซากล่าวเสริม
ในส่วนของหุ้นรายตัว หุ้นกลุ่ม Magnificent Seven ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น ยกเว้น Apple Inc. ที่ร่วงลง 3.68% หลังจากยอดขายในจีนลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาสล่าสุด แม้ผลประกอบการโดยรวมจะออกมาแข็งแกร่งก็ตาม
ด้านมุมมองการลงทุน ตัวชี้วัดมูลค่าหุ้นที่นักลงทุนระดับตำนานอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้ความสำคัญ หรือ Buffett Indicator ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมดผ่านดัชนี Wilshire 5000 ต่อ GDP ของสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณว่าราคาหุ้นโดยรวมยังค่อนข้างถูก ซึ่งสนับสนุนมุมมองว่าการฟื้นตัวร้อนแรงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีช่องว่างให้ไปต่อได้ โดยค่า Indicator ดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน แม้จะมีการดีดตัวขึ้นแรงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ทอม เดอมาร์ค นักกลยุทธ์ด้านเทคนิคชื่อดังซึ่งเคยให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีหลายราย เตือนว่าตลาดอาจกำลังเข้าใกล้จุดสูงสุดในระยะสั้นภายในไม่กี่วันข้างหน้า หากดัชนี S&P 500 สามารถทำจุดปิดสูงสุดใหม่ได้อีก 2 ครั้ง ซึ่งตามทฤษฎีของเขา จะนำไปสู่สัญญาณขายและกดดันให้ดัชนีกลับมาปรับตัวลงได้
ขณะที่นักกลยุทธ์จาก HSBC มองว่า ด้วยความไม่แน่นอนทางการค้าที่ยังคงอยู่ นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะหมุนเวียนการลงทุน (Rotate) ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปยังตลาดหุ้นยุโรปต่อไป
อ้างอิง: