×

หุ้นสหรัฐฯ เขียวยกแผง ‘ดาวโจนส์’ พุ่ง 1,200 จุด ปรับขึ้นมากสุดรอบ 2 ปีรับข่าวเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอตัว

11.11.2022
  • LOADING...

บรรยากาศตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 พฤศจิกายน) ปรับตัวเขียวทั้งกระดาน โดยเฉพาะดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่พุ่งทะยานกว่า 1,200 จุด ขานรับสัญญาณบวก จากรายงานเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เหล่านักลงทุนเริ่มมีความหวัง ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากไปกว่านี้แล้ว 

 

ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวพุ่งขึ้น 1,201.43 จุด หรือ 3.70% ปิดที่ 33,715.37 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 207.80 จุด หรือ 5.54% ปิดที่ 3,956.37 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 760.97 จุด หรือ 7.35% ปิดที่ 11,114.15 จุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


รายงานระบุว่า ความเคลื่อนไหวของดาวโจนส์เมื่อวานนี้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในหนึ่งวันที่มากที่สุดนับตั้งแต่ที่หุ้นส่งสัญญาณพ้นตลาดหมีหลังการระบาดใหญ่ เช่นเดียวกับดัชนี S&P 500 ที่เป็นการขยับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 ขณะที่ดัชนีแนสแด็กเป็นการขยับขึ้นที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020

 

ความเคลื่อนไหวของวอลล์สตรีทดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนตุลาคม ซึ่งพบว่า ตัวเลข CPI ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า ถือเป็นการบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

 

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 7.7% ในเดือนตุลาคมในอัตรารายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 7.9% และชะลอตัวจากระดับ 8.2% ในเดือนกันยายน

 

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.6% 

 

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนตุลาคมในอัตรารายปี น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 6.5% อีกทั้งยังชะลอตัวจากระดับ 6.6% ในเดือนกันยายน 

 

ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนตุลาคม น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้จะอยู่ที่ระดับ 0.5% และต่ำกว่าเดือนกันยายนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.6% 

 

รายงานระบุว่า ข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดานักลงทุนหันมาปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed โดยมีนักลงทุนถึง 85% เพิ่มขึ้นจากเดิม 52% ที่เชื่อว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนธันวาคม แทนที่จะเป็น 0.75%

 

ข่าวดีดังกล่าวยังส่งผลให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นในแดนบวกเช่นเดียวกัน โดยหุ้นของ Amazon เพิ่มขึ้นประมาณ 12.2% Apple และ Microsoft ขยับสูงกว่า 8% หุ้นของ Meta เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% และ Tesla เพิ่มขึ้น 7%

 

ด้านอัตราผลตอบแทบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.81% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 4.32% ส่วนค่าเงินสหรัฐฯ ร่วงหนักกลายเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดของสกุลเงินดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2009

 

ขณะเดียวกัน สัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงของสหรัฐฯ ยังส่งผลผลักดันให้ราคาทองคำขยับขึ้น ซึ่งเมื่อวานนี้ราคาทองคำขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,753.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ด้านราคาน้ำมันขยับขึ้น 1% เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวเงินเฟ้อ ที่อาจทำให้ Fed ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งเสริมอุปสงค์ทางด้านพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งช่วยให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์มีราคาถูกลงสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่นๆ

 

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 64 เซนต์ ปิดที่ 84.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 1.02 ดอลลาร์ ปิดที่ 93.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

นักวิเคราะห์ชี้ ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ ไม่ใช่หลุมหลบภัย

สำนักข่าว CNN รายงานความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในตลาดที่เห็นตรงกันว่า สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย และต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างหนักหน่วง รวมถึงต้องเฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบด้านอย่างใกล้ติด เพื่อหาจังหวะและโอกาสเข้าซื้อหรือปล่อยขาย 

 

อย่างไรก็ตาม การแห่เทขายทองคำ และราคาสกุลเงินดิจิทัลที่ดิ่งระนาว กลายเป็นการตอกย้ำในเห็นว่า ภาพรวมของตลาดในเวลานี้ไม่มีหลุมหลบภัยที่ปลอดภัยและน่าอุ่นใจสำหรับนักลงทุนเลย 

 

รายงานระบุว่า สถานการณ์ของตลาดคริปโตส่งสัญญาณวิกฤตระลอกใหม่เมื่อ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลในฐานะสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่น่าจับตามอง ประสบปัญหาสภาพคล่อง ทำให้สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ อีเทอเรียม และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง 

 

ขณะนี้ราคาบิทคอยน์อยู่ที่ประมาณ 16,500 ดอลลาร์ ลดลงจากระดับ 20,000 ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และห่างไกลจากราคาสูงสุดที่เคยทำไว้ในช่วงปลายปี 2021 ที่ 46,000 ดอลลาร์

 

สวนทางกับแนวคิดของนักลงทุนที่คาดหวังว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบวกกับระดับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทุบสถิติของสหรัฐฯ จะส่งผลบวกต่อสินทรัพย์ทางเลือกอย่างคริปโตและทองคำ ซึ่งกลายเป็นว่าสินทรัพย์ทั้งสองได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับหุ้นและพันธบัตร ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าไม่มีที่ใดให้นักลงทุนหลบพักในตลาดได้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ด้านราคาทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ร่วงลงแล้วประมาณ 6% ในปีนี้ และราคาโลหะมีค่าก็ยังคงขยับปรับตัวอยู่ไม่ไกลจากระดับต่ำสุดในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของไวรัสโควิดเมื่อต้นปี 2020 

 

หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า ทองคำและคริปโตจะฟื้นกลับมาหรือไม่ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่ายังมีโอกาสที่สินทรัพย์กลุ่มนี้จะกลับมา เมื่อพิจารณาจากทิศทางเคลื่อนไหวของคริปโตและทองคำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรอบการขยับขึ้นลงของคริปโตเคอร์เรนซี ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าราคาคริปโตน่าจะขยับขึ้น หลังจากที่ตลาดหายตื่นตระหกจากกรณี FTX 

 

ในส่วนของราคาทองคำ การฟื้นตัวของราคาอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้น ทองคำจึงยังไม่มีบทบาทมากนักในช่วงนี้ 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X