วิกฤตชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ส่อเค้ายืดเยื้อไปจนถึงต้นปีหน้า หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่อนุมัติร่างงบประมาณของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรงบสร้างกำแพงบริเวณชายแดนเม็กซิโกมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสชุดใหม่ที่มีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากมีกำหนดเปิดสมัยประชุมครั้งหน้าในวันที่ 3 มกราคม
การชัตดาวน์หน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ มีขึ้นตั้งแต่เที่ยงคืนวันศุกร์ (21 ธ.ค.) เป็นต้นมา หลังพรรครีพับลิกันของทรัมป์ไม่ได้คะแนนเสียงเพียงพอในการผ่านร่างงบประมาณในวุฒิสภา โดยรีพับลิกันซึ่งมีจำนวน ส.ว. 51 ที่นั่ง ต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เดโมแครตบางส่วนเพื่อให้ได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 60 จากทั้งหมด 100 เสียง ขณะที่ร่างงบประมาณดังกล่าวผ่านความเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนน 217 ต่อ 185 เสียงไปก่อนหน้านี้
มิก มัลเวนีย์ รักษาการเสนาธิการทำเนียบขาว เตือนว่าวิกฤตชัตดาวน์อาจยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หากสภาคองเกรสและทรัมป์ไม่สามารถหาทางออกเกี่ยวกับงบสร้างกำแพงภายในวันที่ 28 ธันวาคมนี้
มัลเวนีย์ระบุว่าทางทำเนียบขาวกำลังพิจารณาลดข้อเรียกร้องในเรื่องงบประมาณสร้างกำแพงจากที่กำหนดไว้ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็ขอให้สมาชิกเดโมแครตยอมเพิ่มจำนวนเงินจาก 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ตั้งไว้สำหรับการเสริมสร้างความมั่นคงในบริเวณชายแดนด้วย
ผลพวงจากการไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณก้อนใหม่ได้ ทำให้หน่วยงาน 9 กระทรวงจากทั้งหมด 15 กระทรวงต้องปิดทำการชั่วคราว โดยจำนวนนี้รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงเกษตร และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อพนักงานรัฐหลายแสนคน โดยบางส่วนต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือถูกพักงานชั่วคราว เช่น พนักงานดูแลสวนสาธารณะแห่งชาติจำนวน 80% ต้องหยุดงาน ขณะที่สวนหลายแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องปฏิบัติงานตามเดิมต่อไปประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ชายแดน ซึ่งจะได้รับเงินเดือนล่าช้า เช่นเดียวกับพนักงานสนามบินที่ปฏิบัติงานตามปกติ ขณะที่พนักงานกระทรวงการเคหะและกรมสรรพากรส่วนใหญ่จะต้องหยุดงานชั่วคราวโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานบางส่วนได้ แต่หน่วยงานอีก 75% ที่เหลือยังสามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามปกติจนถึงเดือนกันยายน ปี 2019 ดังนั้นกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการจึงไม่ได้รับผลกระทบ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: