×

จับสัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้

19.06.2024
  • LOADING...
ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา The Federal Reserve (Fed) หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ที่ระดับ 5.25-5.50% ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อภายในประเทศที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตได้ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเงินเฟ้อสหรัฐฯ เองก็อยู่ที่ระดับสูง และปัจจุบันยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ Fed มองไว้

 

หากมองย้อนกลับไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดคาดว่า Fed มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มากถึง 5-6 ครั้งในปีนี้ โดยเป็นการลดครั้งละ 0.25% สะท้อนภาพของตลาดในช่วงต้นปีที่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมาก ภายหลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะแผ่วลง รวมถึงเงินเฟ้อจะลดลงได้เร็ว

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่างๆ ที่ทยอยออกมาในช่วง 5 เดือนแรก กลับสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแรง ตลาดแรงงานที่ไม่ได้ปรับตัวลดลงตามที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้จ่ายในสหรัฐฯ โดยเฉพาะการบริโภคที่ยังคงขยายตัวได้ดี ตลาดแรงงานที่ค่อนข้างตึงตัว อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังขยายตัวได้ดี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการผลิตและระบบการขนส่ง กระทบต่อราคาสินค้าให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงมีความหนืดค่อนข้างสูง และทำให้การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงได้ช้ากว่าที่คาดมากกว่าที่ตลาดมองไว้

 

อย่างไรก็ดี เรายังคงมองว่า Fed จะเริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในช่วงท้ายของปีนี้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนในมิติต่างๆ เช่น แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลเชิงลบต่อต้นทุนภาคธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดแรงงานจะทยอยปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลมากยิ่งขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงานจะค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อต่างๆ มีแนวโน้มจะหดตัวลงจากเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องของตลาดเงินมีแนวโน้มลดลง และเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลดลง แม้ว่าจะยังมีความหนืดอยู่บ้าง โดย Fed มีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 1-2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองล่าสุดของตลาด

 

ในสถานการณ์นี้ หากลองพิจารณาตามวงจรเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงไปของเส้นอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรในระยะถัดไป จะพบว่าเรากำลังเข้าสู่ Stage สุดท้ายของ Interest Rate Cycle ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในลักษณะ Bull Flattening โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งมักจะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้ ดังนั้น การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้จึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมในช่วงที่วงจรนโยบายการเงินเข้าใกล้จุดสิ้นสุด ควรพิจารณาให้ความสำคัญในการบริหารกระจายความเสี่ยงพอร์ตตราสารหนี้ โดยเครื่องมือในการลงทุนตราสารหนี้มีหลากหลาย ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ในประเทศไทยและตราสารหนี้ต่างประเทศทั่วโลก โดยการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงของประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศทางยูโรโซน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงทางด้านเครดิต โดยกระจายการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีคุณภาพ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising