บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ต้องเปิดเผยความเป็นเจ้าของให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบ ซึ่งกฎหมายใหม่นี้อาจทำให้บริษัทมากกว่า 200 แห่งถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ธันวาคม) ว่าบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนการเป็นเจ้าของ หรือการถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ รวมถึงต้องแสดงหลักฐานการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีที่ได้รับการตรวจสอบโดย PCAOB
โดยกฎหมายใหม่นี้อาจทำให้บริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน มากกว่า 200 แห่งถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายใหม่ได้ และอาจทำให้บริษัทจีนบางแห่งมีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับนักลงทุน
ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติการถือครองบริษัทต่างประเทศ (Holding Foreign Companies Accountable Act: HFCAA) เพื่อกำหนดให้บริษัทต่างชาติต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี หรือ Public Company Accounting Oversight Board (PCAOB) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสภาคองเกรสแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2563
โดยกฎหมายใหม่มอบอำนาจให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทนั้นๆ และให้ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หาก PCAOB ไม่สามารถตรวจสอบรายงานที่ร้องขอได้เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริษัทต่างชาติต้องประกาศว่ามีหน่วยงานรัฐเข้าเป็นเจ้าของ หรือถูกควบคุมโดยรัฐบาลต่างประเทศหรือไม่
กฎหมายใหม่ดังกล่าวยังกำหนดให้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้กิจการในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่ากิจการที่มีผลประโยชน์ผันแปร (Variable Interest Entities หรือ VIEs) สำหรับการทำ IPO ซึ่งแม้ว่าวิธีการแบบ VIEs จะทำให้บริษัทจีนในบางภาคส่วนสามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ภายในประเทศในการเข้าจดทะเบียนในต่างประเทศได้ แต่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ มีควางกังวลว่าโครงสร้างดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงให้กับนักลงทุน และอาจมีการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้
ก่อนหน้านี้จีนไม่เคยอนุญาตให้หน่วยงานผู้ตรวจสอบบัญชีสหรัฐฯ หรือ Public Company Accounting Oversight Board (PCAOB) เข้าตรวจสอบผู้สอบบัญชีของบริษัทจีนเลย ในขณะที่บริษัทต่างชาติอื่นๆ ดำเนินการได้ตามกฎมาตลอด โดยทางการจีนอ้างว่ามีความกังวลด้านความมั่นคงของประเทศ ในขณะเดียวกันทางหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เองก็กังวลว่าความบกพร่องด้านการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ อาจทำให้นักลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยง
ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของบริษัท Luckin Coffee ในปี 2563 ซึ่งมีการไล่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการออก หลังผลสอบสวนพบว่ามีการฉ้อโกงภายในก็ทำให้การเรียกร้องให้ตรวจสอบทางบัญชีต่อบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้มข้นมากขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยหลังจากประกาศบังคับใช้กฎหมายใหม่ ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ (NASDAQ Golden Dragon China Index) ปรับตัวลดลงถึง 3.8% นำโดยหุ้นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี อย่าง Alibaba, JD.com Inc. และ Pinduoduo Inc. ที่พากันปรับลดลงถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับของจีนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ก.ล.ต. จีน เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า หน่วยงานกำกับฯ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการตรวจสอบกับหน่วยงานในสหรัฐฯ
ทางด้านรัฐบาลจีนได้ออกแนวทางปฏิบัติเมื่อเดือนสิงหาคม โดยระบุว่าจะส่งเสริมความร่วมมือทางบัญชีข้ามพรมแดน ในขณะเดียวกันก็จะปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลด้วย ตามมาด้วยคำแถลงจากหน่วยงานกำกับดูแลความมั่นคงของประเทศ ซึ่งกล่าวว่าจะดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการตรวจสอบบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-02/u-s-regulators-move-step-closer-to-delisting-chinese-companies?sref=CVqPBMVg
- https://www.cnbc.com/2021/12/02/sec-issues-final-regs-that-allow-it-to-delist-foreign-companies-that-dont-comply-with-audit-rules.html
- https://www.aljazeera.com/economy/2021/12/2/us-listed-chinese-firms-must-disclose-ownership-audits-sec
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP