×

วิเคราะห์สหรัฐฯ-อิหร่าน เกมดุลอำนาจตะวันออกกลาง และชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3?

07.01.2020
  • LOADING...
วิเคราะห์สหรัฐฯ-อิหร่าน

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่า การที่ทรัมป์สั่งการให้ปลิดชีพนายพลคนสำคัญของอิหร่านในเวลานี้ อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ เพราะจะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ช่วยเบนความสนใจจากเรื่องการถอดถอนทรัมป์ในสภาคองเกรสได้เป็นอย่างมาก
  • ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และดุลอำนาจที่กำลังเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน
  • ทว่า ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังไม่โจมตีเข้าไปในแผ่นดินของอิหร่าน ก็จะไม่เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกัน แต่จะเป็นการสู้รบที่จำกัดขอบเขตในประเทศที่ 3 เท่านั้น
  • การจะเกิดสงครามโลกได้นั้น ชาติมหาอำนาจรายอื่นๆ จะต้องเข้าร่วมด้วย ซึ่งรัสเซียมีแนวโน้มช่วยไกล่เกลี่ยและยับยั้งความขัดแย้ง มากกว่าจะเข้าไปจับมือกับอิหร่านเพื่อทำสงครามกับสหรัฐฯ ขณะที่จีนไม่มีนโยบายทำสงครามในต่างประเทศ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า

เหตุการณ์สหรัฐฯ ใช้โดรนสังหาร พล.ต. กัสเซม โซเลมานี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ และนายพลเบอร์ 2 ของกองทัพอิหร่านที่สนามบินแบกแดดในอิรักเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่สร้างความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และจุดชนวนความตึงเครียดในตะวันออกกลางถึงขีดสุด หลายฝ่ายถึงกับวิตกกังวลว่า ปฏิบัติการทางทหารแบบสายฟ้าแลบครั้งนี้อาจเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเห็น

 

คำถามของหลายๆ คนที่ตามมาก็คือ โอกาสเกิดสงครามใหญ่มีมากน้อยแค่ไหน และเราควรรับมืออย่างไรในสถานการณ์ตึงเครียดที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้

 

 

โอกาสเกิดสงครามประจันหน้าเต็มรูปแบบ และสงครามโลกครั้งที่ 3

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่า กรณีสหรัฐฯ ใช้โดรนปลิดชีพนายพลระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามใหญ่ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ แต่อันที่จริงแล้ว การจะเกิดสงครามโลกได้นั้นต้องมีหลายปัจจัยประกอบกัน โดยเฉพาะการกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศมหาอำนาจรายอื่นๆ 

 

ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระลอกล่าสุด ทำให้สปอตไลต์ฉายไปที่รัสเซียและจีน เพราะทั่วโลกจับตาดูว่า ทั้งสองชาติมหาอำนาจจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว ถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านทั้งคู่ โดยเฉพาะรัสเซียที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดของผู้นำอิหร่าน

 

สหรัฐฯ-อิหร่าน

 

แน่นอนว่า หากจะเกิดสงครามโลกได้ มหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียจะต้องเข้าร่วมด้วย แต่สำหรับจีนนั้นไม่มีนโยบายเข้าไปทำสงครามที่ไหนอยู่แล้ว เนื่องจากจีนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเป็นอันดับแรก พวกเขาไม่ต้องการให้ปัญหานี้ทำให้จีนต้องสะดุดบนเส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจ 

 

ส่วนรัสเซียนั้น ดร.มาโนชญ์ มองว่า หากเกิดสงครามระหว่างอิหร่านกับประเทศในภูมิภาค หรือสหรัฐอเมริกา รัสเซียจะวางท่าทีใน 2 ลักษณะ หนึ่งคือ การช่วยยับยั้ง พยายามที่จะไกล่เกลี่ย โดยโน้มน้าวให้อิหร่านอดทนอดกลั้น หรือไม่ก็หาทางออกด้วยวิธีอื่น 

 

อิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย และก็ฟังรัสเซียพอสมควร ขณะที่อิหร่านเองก็ไม่ต้องการเข้าสู่สงครามที่เผชิญหน้ากันโดยตรง และที่สำคัญ ในช่วงหลังรัสเซีย อิหร่าน ซีเรีย และอีกหลายประเทศก็มีความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค ดังนั้น อิหร่านคงไม่ตัดสินใจเองทั้งหมด แต่จะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่มีความร่วมมือกับรัสเซียและซีเรียด้วย

 

สองคือ ถ้ารัสเซียไม่สามารถยับยั้งอิหร่านได้ พวกเขาก็จะเฟดตัวออกห่างจากวิกฤตนั้น ซึ่งถ้ารัสเซียเอาตัวออกห่างจากวิกฤตตรงนี้ เท่ากับว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองในแง่ไหนก็ตามแต่ ไม่มีเงื่อนไขใดที่จะทำให้เกิดสงครามโลกขึ้นได้ แต่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเป็นความรุนแรงในลักษณะที่อิหร่านใช้ตัวแทนกลุ่มติดอาวุธของตนเองในการโจมตีฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคมากกว่า

 

ความน่าจะเป็นข้างต้นอาจทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงตามมา ซึ่งน่าจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะพัฒนาไปเป็นสงครามระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่ โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งที่ระหองระแหงกันมาช้านานระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล หรืออิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมันอาจพัฒนาไปถึงตรงน้ัน หากมีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่เอื้อให้เกิดขึ้น 

 

แต่หากโฟกัสไปที่คู่ขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านโดยตรงแล้ว ความเป็นไปได้หลังจากนี้ก็คือ อิหร่านจะใช้กองกำลังของตนเองไปโจมตีฐานทัพของอเมริกาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่วนสหรัฐฯ ก็จะใช้ทหารที่ประจำการอยู่ในอิรัก ทำลายฐานที่มั่นของกองกำลังเหล่านั้นในอิรัก 

 

ซึ่งกรณีเลวร้ายที่สุดตามทัศนะของ ดร.มาโนชญ์ ก็คือ อิรักจะกลายเป็นสมรภูมิสู้รบคล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในซีเรีย โดยสมรภูมิที่อิรักนี้ คู่ขัดแย้งหลักคือ สหรัฐอเมริกากับอิหร่าน 

 

สิ่งที่น่ากลัวคือ ความสูญเสียที่จะตามมาในอิรัก เพราะมันจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ซึ่งความกังวลนี้ทำให้รัฐสภาอิรักลงมติให้รัฐบาลพิจารณานโยบายขับทหารอเมริกันออกไปจากประเทศ เพราะอิรักเองก็ไม่ต้องการเผชิญแรงกดดันและกระแสความโกรธแค้นจากประชาชนที่เกิดจากกรณีสังหารนายพลโซเลมานีของอิหร่าน 

 

สำหรับอิรักแล้ว การวางตัวและแสดงท่าทีต่ออิหร่านและสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าอิรักอาจต้องการให้ทหารสหรัฐฯ ออกไปจากประเทศ แต่พวกเขาก็ต้องรักษาระยะห่างกับอิหร่านพอสมควร มิเช่นนั้นสหรัฐฯ อาจมองว่า อิรักให้การสนับสนุนอิหร่าน รวมถึงกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ที่ถูกวอชิงตันขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย 

 

ในมุมมองของอเมริกาอาจมองว่า อิรักมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย IRGC เมื่อเป็นแบบนี้ อเมริกาอาจจะต้องจัดการกับรัฐบาลอิรักด้วย เหมือนกับที่เคยจัดการกับกลุ่มตาลีบัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอิรักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก 

 

ในอิรักมีกระแสเรียกร้องที่ไม่เอาทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ เพราะตระหนักดีว่า ทั้งสองประเทศพยายามแผ่อิทธิพลเข้าในประเทศเพื่อถ่วงดุลอำนาจ โดยแผนยุทธศาสตร์ของอิหร่านก็คือ การขยายอิทธิพลของตนเองครอบคลุมตั้งแต่เยเมน อิรัก ซีเรีย ไปจนถึงเลบานอน เพื่อปิดล้อมตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่อเมริกาไม่ยอม เช่นเดียวกับพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียก็ไม่ยอมเช่นกัน

 

สหรัฐฯ-อิหร่าน

 

ทางเลือกของอิหร่าน

ดร.มาโนชญ์ มองว่า ตราบใดที่อเมริกายังไม่โจมตีเข้าไปในแผ่นดินของอิหร่าน ก็จะไม่เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกัน แต่จะเป็นการสู้รบที่จำกัดขอบเขตในประเทศที่ 3 เท่านั้น

 

เพราะการโจมตีในแผ่นดินอิหร่านโดยตรงจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้อิหร่านมีโอกาสตอบโต้สูง เหมือนกับกรณีที่สหรัฐฯ เคยส่งโดรนบินเข้าไปใกล้เขตแดนของอิหร่าน ซึ่งอิหร่านตอบโต้โดยการยิงโดรนตก 

 

แต่หากสหรัฐฯ โจมตีแบบจำกัดวงอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น อิหร่านก็จะมีมาตรการตอบโต้แบบจำกัดวงเช่นเดียวกัน ซึ่งมีหลายลักษณะ หนึ่งในนั้นคือ การใช้ตัวแทนของตัวเองเข้าไปโจมตีฐานทัพอเมริกา ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการใช้หน่วยรบพิเศษกุดส์ของ IRGC หรือใช้กลุ่มติดอาวุธในอิรักที่มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันจากเมื่อครั้งที่เคยร่วมมือต่อสู้กับภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในอดีต 

 

อีกความเป็นไปได้ก็คือ อิหร่านอาจเลือกโจมตีโดยการลอบสังหารผู้นำทหารระดับสูง ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เพื่อเป็นการล้างแค้นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

 

นอกจากนี้อิหร่านยังอาจเลือกเดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ หวาดระแวงมาตลอด โดยล่าสุดอิหร่านประกาศชัดแล้วว่า พวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2015 อีกต่อไป ซึ่งเท่ากับว่า อิหร่านจะไม่มีพันธกรณีในการจำกัดขอบเขตการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม รวมถึงการสะสมยูเรเนียมบริสุทธิ์ และการวิจัย-พัฒนาโครงการนิวเคลียร์

 

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ก็คือ การโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งไม่ใช่มาตรการทางทหารแบบประจันหน้าโดยตรง

 

ส่วนกรณีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลกนั้น มีความเป็นไปได้น้อยกว่าทางเลือกที่กล่าวมาข้างต้น เพราะหากสถานการณ์ไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ อิหร่านคงไม่เลือกตัวเลือกนี้ เนื่องจากหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ จะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้อิหร่านมีโจทก์หรือศัตรูเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะแทนที่หลายประเทศจะเห็นอกเห็นใจอิหร่าน อาจกลับกลายเป็นเพิ่มศัตรูแทน

 

แต่หากอิหร่านเลือกวิธีนี้จริง ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปทานน้ำมันในตลาดโลกด้วย ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

 

 

‘กล่องดวงใจ’ ของสหรัฐฯ 

หากเกิดสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุดนั่นคือ สหรัฐฯ ขยายขอบเขตการโจมตีเข้าไปในดินแดนของอิหร่านนั้น ความเป็นไปได้อีกประการที่อิหร่านอาจทำได้ก็คือ การโจมตีอิสราเอล พันธมิตรใกล้ชิดที่เปรียบเหมือน ‘กล่องดวงใจ’ ของสหรัฐฯ 

 

นอกจากจะเป็นกล่องดวงใจที่สหรัฐฯ ให้การปกป้องและดูแลในฐานะพันธมิตรที่สำคัญแล้ว การโจมตีอิสราเอลยังสอดคล้องกับภารกิจของกองกำลังกุดส์ ซึ่งมีเป้าหมายในการปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์จากอิทธิพลของอิสราเอล ซึ่งอาจได้แนวร่วมจากชาติอาหรับหลายประเทศด้วย

 

วาระซ่อนเร้นของทรัมป์? การโจมตีเพื่อดึงคะแนนเสียงในปีเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์หลายๆ คน ดร.มาโนชญ์ มองว่า การที่ทรัมป์เลือกปลิดชีพนายพลของอิหร่านในเวลานี้ มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้  

 

จะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้ช่วยเบนความสนใจจากเรื่องการถอดถอนทรัมป์ในสภาคองเกรสได้เป็นอย่างมาก เพราะในอดีต ผู้นำสหรัฐฯ หลายๆ คนที่เคยเจอปัญหานี้ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน โดยการก่อสถานการณ์ภายนอกเพื่อดึงความสนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องให้น้ำหนักกับภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางด้วย  

 

ปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในภาวะสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งคนที่มีบทบาทช่วยขยายอิทธิพลให้กับอิหร่านก็คือ พล.ต. โซเลมานี และที่ผ่านมา อเมริกาก็พยายามทำทุกวิถีทาง ทั้งการกดดันทางการเมือง กดดันทางเศรษฐกิจ หรือข่มขู่ เพื่อที่จะให้อิหร่านยุติการแผ่ขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง และยุติการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในภูมิภาคนี้ 

 

แต่ไม่ว่าจะกดดันอย่างไร อิหร่านก็ยังขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ต้องตัดสินใจสังหารโซเลมานี ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้ปรึกษาสภาคองเกรสมาก่อน แต่เป็นการตัดสินใจในวงที่ปรึกษาและหน่วยงานความมั่นคงของทำเนียบขาวเท่านั้น 

 

เดิมแผนการสังหารนายพลโซเลมานีอยู่บนโต๊ะพิจารณาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนมาตลอด เพียงแต่เงื่อนไขที่เขาประเมินกันอาจยังไม่พร้อมให้ใช้วิธีนี้ ไม่ว่าจะสมัยของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือ บารัก โอบามา ก็ตาม 

 

สหรัฐฯ-อิหร่าน

 

แต่พอมาถึงยุคของทรัมป์ การที่เขาตัดสินใจแน่วแน่เช่นนี้ อาจมีปัจจัย 2-3 อย่างมาประกอบกัน ปัจจัยแรกคือ การเลือกตั้ง สองคือ ภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และปัจจัยที่สามคือ แรงกดดันจากพันธมิตรในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิสราเอลที่รู้สึกไม่สบายใจกับอิทธิพลของอิหร่านที่นับวันจะยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 

 

พอหลังจากการเกิดเหตุการณ์สังหารนายพลโซเลมานี นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ได้บินกลับมาอิสราเอลเพื่อประชุมฝ่ายความมั่นคงทันที ที่สำคัญคือ มีการแสดงท่าทีสนับสนุนการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกา โดยมองว่า เป็นการป้องกันตนเอง 

 

ในอดีตแผนสังหารโซเลมานีล่มไปหลายครั้ง เพราะติด 2 เงื่อนไขสำคัญ ประการแรกคือ เสี่ยงเกินไป เพราะประเมินได้ยากมาก และไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ส่วนประการต่อมาคือ เราต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมาโซเลมานีคือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ประจำในกองทัพของอิหร่าน การที่ประเทศหนึ่งจะเข้าไปสังหารแม่ทัพนายกองของอีกประเทศหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก และผิดกฎหมายระหว่างประเทศ 

 

นอกจากนี้ยังผิดกฎหมายของสหรัฐฯ เองด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฝ่ายค้านหยิบยกไปเล่นงานในภายหลัง 

 

ดร.มาโนชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ประกาศขึ้นบัญชีกลุ่ม IRGC ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว เพราะว่าเมื่อขึ้นบัญชีกลุ่ม IRGC เป็นกลุ่มก่อการร้ายแล้ว สถานะทหารหรือผู้บัญชาการกองกำลัง IRGC ของนายพลโซเลมานีก็จะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายทั่วๆ ไป ดังนั้น สหรัฐฯ จึงมีความชอบธรรมในการใช้ปฏิบัติการทางทหารเหมือนกับการโจมตีผู้ก่อการร้ายในหลายประเทศ อย่างปากีสถาน เยเมน โซมาเลีย อิรัก โดยอ้างสิทธิการป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของสหประชาชาติ หรือก็คือการใช้วิธีชิงโจมตีก่อน 

 

แต่หลักการของการชิงโจมตีก่อนก็คือ ต้องเห็นแล้วว่าภัยคุกคามมันเกิดขึ้นตรงหน้า ไม่มีเวลาตัดสินใจ และไม่มีเวลาเจรจาสันติภาพ จึงจะเลือกใช้วิธีโจมตีก่อนได้ แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้สนใจตรงนี้ เพียงแต่ให้ความสำคัญกับภัยก่อการร้าย ถ้าสหรัฐฯ ได้รับข่าวกรองว่าจะมีการโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกาหรือการโจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ ก็จะชิงโจมตีก่อนทันที 

 

ซึ่งทรัมป์จะหยิบยกข้ออ้างนี้มาอธิบายกับสภาคองเกรส ถ้าเขาใช้โดรนสังหารนายพลโซเลมานีเป็นความผิด นั่นก็หมายความว่า สมัยบุชหรือโอบามาที่ใช้ปฏิบัติการทหารกับผู้นำกลุ่มก่อการร้ายก็มีความผิดด้วย เพราะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากกลุ่ม IRGC ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้ายแล้ว 

 

เราจะเห็นได้ว่า ทรัมป์พยายามระบุว่า นายพลโซเลมานีมีแผนการโจมตีนายทหารและนักการทูตของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องชิงโจมตีก่อน เมื่อสภาคองเกรสทวงถามว่า ทำไมไม่ขอความเห็นชอบจากสภาฯ ก่อน ทรัมป์ก็จะตอบว่า นี่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสงคราม ที่สำคัญการทำแบบนี้ก็เป็นการป้องกันตัวเอง 

 

นิวเคลียร์: Game Changer?

สิ่งที่สหรัฐฯ ไม่อยากเห็นที่สุดคือ การที่อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เพราะนั่นจะทำให้เกมพลิก และเปลี่ยนดุลอำนาจในตะวันออกกลางทันที

 

หากมองจากสถานะ ‘ศัตรูโปรด’ สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการเห็นคือ อิหร่านที่ไม่อ่อนแอจนไร้เขี้ยวเล็บในการต่อสู้กับขั้วอำนาจซุนนีในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ปล่อยให้มีความเข้มแข็งจนเกินเลย โดยเฉพาะการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล 

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกว่า ทำไมโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านจึงเป็นวาระสำคัญของสหรัฐฯ ที่ต้องเฝ้าจับตา หากมีข้อบ่งชี้ว่า อิหร่านมีแสนยานุภาพเกินขีดที่จะรับได้ หรือมีผลต่อระดับความมั่นคงของอิสราเอลเกินไป สหรัฐฯ อาจพิจารณาใช้มาตรการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการดำเนินการหลักๆ ใน 2 ระดับ คือ การลงโทษหรือคว่ำบาตรเพื่อสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและปิดกั้นการสนับสนุนจากภายนอก ไปจนถึงการทำสงครามตัวแทน 

 

แม้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยเปิดฉากทำสงครามกับอิหร่านโดยตรง แต่พอมาในยุคของประธานาธิบดีขวาจัดอย่างทรัมป์ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า สถานการณ์อาจลุกลามบานปลายเป็นสงครามได้ เพราะเงื่อนไขปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทรัมป์อาจตัดสินใจเข้าสู่สงคราม หากประเมินว่าตัวเองรบแล้วชนะเบ็ดเสร็จ ซึ่งอาจจะประเมินถูกหรือผิดก็ได้ หรือมีความเป็นไปได้ในกรณีที่สงครามนั้นให้ประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์การเมืองโลกและสถานการณ์ในภูมิภาค หรืออาจจำใจต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

 

สหรัฐฯ-อิหร่าน

 

เมื่ออิหร่านมีการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธที่มีศักยภาพมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการเมืองที่กำลังขยายตัวในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบียย่อมไม่สบายใจและมองเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ซาอุดีอาระเบียจึงไม่เพียงแต่ซื้ออาวุธจำนวนมากจากสหรัฐฯ แต่ยังพยายามรวบรวมพันธมิตรทางทหารในกลุ่มอาหรับเพื่อรับมือกับอิหร่าน ที่สำคัญคือ ซาอุดีอาระเบียเริ่มคิดที่จะพัฒนานิวเคลียร์ขึ้นมาแล้ว เพราะมองว่าถ้าอิหร่านมีได้ หรือสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ ซาอุดีอาระเบียก็จำเป็นต้องมีด้วย

 

สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งเร่งให้รัฐในตะวันออกกลางเข้าสู่สภาวะ Security Dilemma มากขึ้น สหรัฐฯ จะถูกกดดันจากพันธมิตรในตะวันออกกลางให้ต้องสกัดกั้นอิทธิพลและการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อยื้อสถานะเดิม (Status Quo) หาไม่แล้วก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างมาก

 

หากมองสถานการณ์ตามแนวคิดสภาพจริงนิยม (Realism) การที่สหรัฐฯ สกัดกั้นอิหร่านจากการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธป้องกันประเทศ อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องอิสราเอลหรือพันธมิตรอื่นในตะวันออกกลางเท่านั้น หากแต่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดดุลแห่งความหวาดกลัวระหว่างคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลาง (Balance of Terror) เพราะหากอิหร่านมีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองจะหมายถึงการมีอำนาจต่อรองกับอิสราเอลหรือแม้แต่สหรัฐฯ มากขึ้น เมื่อนั้นการปะทะกันหรือทำสงครามนิวเคลียร์จะไม่ใช่ทางออก เพราะทั้งสองฝ่ายจะกลัวความสูญเสีย 

 

ดังนั้น ความอันตรายของวิกฤตกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางความมั่นคงขณะนี้จึงอยู่ที่การตัดสินใจของสหรัฐฯ ว่าจะหยุดยั้งอิหร่านอย่างไรไม่ให้พัฒนาไปสู่จุดที่สามารถสร้างดุลความหวาดกลัวกับรัฐคู่ขัดแย้งได้

 

ดร.มาโนชญ์ มองว่า สำหรับอิหร่านแล้ว พวกเขาไม่ต้องการทำสงครามกับสหรัฐฯ แต่ก็พร้อมตอบโต้ แต่ในภาวะสงคราม อิหร่านก็ต้องมั่นใจก่อนว่า พันธมิตรอย่างรัสเซีย ซีเรีย กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮูตีในเยเมน และกลุ่มติดอาวุธในประเทศต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุนจะเข้าร่วมในสงครามนี้ด้วย ซึ่งกรณีของรัสเซียอาจมีโอกาสไม่มาก

 

ท่าทีของไทยต่อความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ท่ามกลางสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ คนไทยให้ความสนใจกับท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่ง ดร.มาโนชญ์ วิเคราะห์ว่า ไทยคงต้องวางตัวเป็นกลางและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

สิ่งสำคัญคือ การประสานงานกับสถานทูตในตะวันออกกลาง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยในภูมิภาคดังกล่าว ส่วนในทางการเมือง คงไม่มีปัญหาอะไรมาก เนื่องจากทั้งอิหร่านและสหรัฐอเมริกาต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยทั้งคู่

 

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นภายหลังจากสหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการทางทหารปลิดชีพนายพลของอิหร่าน ทำให้โลกเสี่ยงต่อการเกิดสงครามครั้งใหญ่ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้โอกาสเกิดสงครามโลกอาจมีไม่มาก เพราะนั่นย่อมสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่ายมากกว่าจะได้ประโยชน์ แต่ดุลอำนาจในตะวันออกกลางที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เมื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ดุลอำนาจจากนิวเคลียร์อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถานการณ์พลิกผันจนยากจะคาดเดา

 

ย้อนประมวลเหตุการณ์ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านในรอบปี 2019 ที่ผ่านมาได้ที่นี่ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X