×

เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่ง 7% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 39 ปี ด้าน IMF เตือนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ทำเหลื่อมล้ำโลกถ่างขึ้น

13.01.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อสหรัฐฯ

สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) เผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) หรือ CPI ประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 7% เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ 6.8% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือนของสหรัฐฯ ทำสถิติพุ่งแตะรับสูงสุดในรอบ 39 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 1982

 

ขณะนี้ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนซึ่งอยู่ที่ 4.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 5.4% นอกจากนี้ดัชนี CPI พื้นฐาน ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 0.5%

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กลับแสดงความเห็นที่ตอบรับตัวเลขเงินเฟ้อรอบนี้ในทางบวก เนื่องจากมองว่า ความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อยังเป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์กันไว้ และหลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวใกล้แตะระดับสูงสุดแล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะพุ่งแตะระดับสูงสุดอย่างช้าที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนที่จะทรงตัวและค่อยๆ ทยอยปรับตัวลดลง แต่ในภาพรวมตลอดทั้งปี 2022 ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะยังคงถือว่าอยู่ในระดับสูงต่อไป

 

ไมค์ อิงค์ลันด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Action Economics กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อจะยังคงอยู่คู่กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไปตลอดทั้งปีนี้ แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ดีมากขึ้น เพราะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนธันวาคมเป็นผลจากปริมาณดีมานด์กับซัพพลายที่ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นหากปัญหาติดขัดในระบบห่วงโซ่การผลิตคลี่คลายและปัญหาขาดแคลนแรงงานได้รับการแก้ไข ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ก็น่าจะทยอยปรับตัวลดลง

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะปรับลดลงและทรงตัวได้อีกครั้งหลังจากที่การระบาดของโควิดตัวกลายพันธุ์โอมิครอนสิ้นสุดลง และชาวอเมริกันหันมาจับจ่ายใช้สอยในภาคบริการอย่างการออกเดินทางท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน หรือรับชมภาพยนตร์ในโรงมากขึ้น

 

สำหรับเงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งขึ้นในขณะนี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับราคาค่าเช่าที่พักอาศัย มื้ออาหารในร้านอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านขายของชำต่างๆ ตามความต้องการบริโภคของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีงานทำมากขึ้นและได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขว่างงานล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 3.9%

 

นอกจากนี้ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังกลายเป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งออกนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งการยกเลิกมาตรการกระตุ้น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวชัดเจนว่า อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นเรื่องที่เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถจ่ายค่าอาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าเดินทางที่แพงขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกโรงเตือนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อจะยิ่งเพิ่มความอันตรายและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างชาติที่พัฒนาแล้วและชาติที่กำลังพัฒนา ดังนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางชาติอื่นๆ จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ และเพิ่มความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อนกล่าวว่า เงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฏการณ์ครอบจักรวาล แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับบางประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ

 

อ้างอิง:


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X