กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้น้ำหนักความสำคัญ โดยพบว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป หรือ Headline CPI ซึ่งรวมราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับขึ้น 3.0% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และต่ำกว่าระดับ 3.3% ในเดือนพฤษภาคม
ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าดัชนีดังกล่าวจะปรับตัวขึ้น 0.1% หลังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพฤษภาคม นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ที่ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลงต่ำกว่า 0% ในอัตรารายเดือน
ในส่วนของดัชนี CPI พื้นฐาน หรือ Core CPI ซึ่งไม่นับรวมราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ประจำเดือนมิถุนายน ขยับปรับตัวขึ้น 3.3% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% และต่ำกว่าระดับ 3.4% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งดัชนี CPI พื้นฐานอัตรารายปีในเดือนมิถุนายนนี้นับเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดตั้งแต่เดือนเมษายน 2021
ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานในอัตรารายเดือนปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิถุนายน โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือนพฤษภาคม
Mark Zandi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics ชี้ว่า ตัวเลขดัชนี CPI ล่าสุด น่าจะถือเป็นข่าวที่ให้กำลังใจมากที่สุดในรอบปีสำหรับชาวอเมริกา ซึ่งดัชนี CPI จะวัดว่าราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพียงใดทั่วทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตรวจวัดทุกอย่างตั้งแต่ผักและผลไม้ไปจนถึงการตัดผม ตั๋วคอนเสิร์ต และเครื่องใช้ในครัวเรือน
Zandi ชี้ว่า ขณะนี้ราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร น้ำมัน ค่าเช่าบ้าน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรอบประมาณหนึ่งปี
แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2% แต่ก็ถือได้ว่ามีการปรับตัวลงอย่างมากจากระดับ 9.1% ในปี 2022 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1981
ด้าน Sarah House และ Aubrey George นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo Economics แสดงความเห็นในบันทึกถึงนักลงทุนว่า ยังคงคาดหวังที่จะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากแรงกดดันด้านต้นทุนวัตถุดิบผ่อนคลายลง และความต้องการของผู้บริโภคที่ซบเซามากขึ้น ทำให้ธุรกิจปรับขึ้นราคาสินค้าได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงอย่างช้าๆ และต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าเงินเฟ้อจะลดลงสู่อัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย
กระนั้น ดัชนี CPI ล่าสุดก็ทำให้นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ในเดือนกันยายน และปรับลดอีกครั้งในเดือนธันวาคม โดยข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 85.4% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน หลังจากให้น้ำหนักก่อนหน้านี้เพียง 73.4%
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 87.1% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนธันวาคม หลังจากให้น้ำหนักเพียง 73.7%
อ้างอิง: