ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของสหรัฐฯ ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2021 พบชาวอเมริกันทั่วประเทศเป็นหนี้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 14.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 หรือในรอบ 14 ปี รวมถึงมากกว่าระดับหนี้ก่อนเกิดวิกฤตการระบาดในปี 2019 ถึง 8.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ซื้อบ้าน โดยไตรมาสสองที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกถึง 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้หนี้กู้ซื้อบ้านขณะนี้รวมอยู่ที่ 10.44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งหนี้จากที่อยู่อาศัยนี้หมายรวมถึงการกู้ซื้อบ้านครั้งแรกและการรีไฟแนนซ์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ปัจจุบันแม้หนี้กู้ซื้อบ้านของชาวอเมริกันยังไม่มีปัญหาเนื่องจากได้รับอานิสงส์ของนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการพักหนี้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิดระบาด แต่เมื่อใดก็ตามที่โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลง เมื่อนั้นเกรงว่าจะมีปัญหาที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตามมา
ในส่วนหนี้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับหนี้บัตรเครดิตในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หนี้สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่แบกรับภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยของ Oxford Economics พบว่า ชาวอเมริกันที่มีฐานะร่ำรวยกลับมีเงินออมเพิ่มขึ้นเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิดระบาด โดยความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเป็นผลพวงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ บวกกับความร้อนแรงของตลาดหุ้น และความไม่แน่นอนของวิกฤตการระบาดที่ทำให้เศรษฐีชาวอเมริกันลดการใช้จ่ายลง ส่งผลให้ปริมาณเงินออมเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า 70% ของเงินออมชาวอเมริกันจากมูลค่าทั้งหมด 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปอยู่ในกระเป๋าของผู้มีอันจะกินชาวอเมริกันซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ของประชากร ขณะที่ในส่วนของเงินออมส่วนเกิน หรือสัดส่วนของระดับการเติบโตของเงินออมที่มากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด พบ 80% ของเงินออมส่วนเกินที่มีมูลค่าทั้งหมด 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปอยู่ในกระเป๋าของคนรวย 20% ของสหรัฐฯ และ 42% ของเงินออมส่วนเกินดังกล่าวอยู่ในมือคนรวย 1% ของประเทศ
ขณะเดียวกัน เงินออมของครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางของชาวอเมริกันกลับออมได้น้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิดระบาด
แนนซี แวนเดน ฮูเทน นักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมทำการศึกษาในครั้งนี้ระบุว่า แม้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ชาวอเมริกันจะหันมาประหยัดอดออมกันมากขึ้น แต่ระดับของความเหลื่อมล้ำของการออมเงินที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย และมากกว่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ระดับการออมเงินแสดงให้เห็นความพร้อมในการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ โดยผลการศึกษาประเมินว่า จำนวนเงินออมราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะมีการใช้จ่ายในช่วง 1 ปีครึ่งข้างหน้านี้ และเกินครึ่งหรือกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นการใช้จ่ายจากกลุ่มคนรวย ทำให้ร้านอาหาร เสื้อผ้า เครื่องประดับ ไวน์ และสินค้าและบริการระดับไฮเอนด์ ทำรายได้ได้ดีกว่าธุรกิจและร้านค้าปลีกทั่วไป
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/08/03/economy/us-household-debt-pandemic/index.html
- https://www.cnbc.com/2021/08/03/most-of-americas-extra-pandemic-savings-are-going-to-the-wealthy-.html