×

ผลศึกษาชี้ วัคซีน Oxford-AstraZeneca มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และมีอาการอ่อนถึงปานกลาง

08.02.2021
  • LOADING...
วัคซีน Oxford-AstraZeneca

หนังสือพิมพ์ The Financial Times (FT) รายงานผลการศึกษาล่าสุดซึ่งระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของ Oxford-AstraZeneca มีประสิทธิภาพลดลงในการช่วยป้องกันโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ 501Y.V2 (สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้) และมีอาการอ่อนถึงปานกลางได้ แต่ยังไม่มีการระบุประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ตลอดจนการลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต

 

โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นของ University of the Witwatersrand ในแอฟริกาใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ซึ่งทดสอบกับผู้ที่มีผลตรวจเชื้อ HIV เป็นลบจำนวน 2,026 ราย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และกลุ่มตัวอย่างมีค่าอายุมัธยฐานอยู่ที่ 31 ปี ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างจะได้รับยาหลอกอย่างน้อยหนึ่งโดส และอีกครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer-Review) และมีกำหนดที่จะเผยแพร่ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

 

The Financial Times และสำนักข่าว Reuters รายงานคำแถลงจากโฆษกของ AstraZeneca ที่ออกมาให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวในขณะนี้ โดยยอมรับว่า จากการทดสอบขนาดเล็กในเฟส 1-2 นี้ วัคซีนมีประสิทธิภาพอย่างจำกัดในการต่อต้านโรคที่มีอาการเล็กน้อยที่มีสาเหตุหลักมาจากไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและการลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยและสุขภาพดี แต่ยังเชื่อว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงได้

 

“เราเชื่อว่าวัคซีนของเราสามารถป้องกันโรคที่มีอาการรุนแรงได้ เพราะระดับของการทำงานของแอนติบอดีชนิด neutralizing antibody ก็เทียบเท่ากับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นๆ ที่ทำงานต้านโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงกว่า โดยเฉพาะเมื่อช่วงระยะห่างระหว่างโดสอยู่ที่ 8-12 สัปดาห์” ทั้งนี้ neutralizing antibody คือสารภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่เม็ดเลือดขาวชนิดบีและทีเซลล์ได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนให้เกิดการสร้างขึ้น แอนติบอดีนี้จะไปจับที่ผิวของไวรัสบริเวณโปรตีนส่วนหนาม (สไปก์) เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ของร่างกาย

 

AstraZeneca ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า กลไกตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอื่นๆ อาทิ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ ยังอาจช่วยป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ข้อมูลเบื้องต้นยังชี้ว่า กลไกการตอบสนองเหล่านี้อาจยังคงมีอยู่เหมือนเดิมในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ดังกล่าว พร้อมระบุว่า กำลังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในการปรับปรุงวัคซีนให้ต่อต้านไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้นี้ได้ ซึ่งมีความก้าวหน้าในการปรับปรุงที่รวดเร็ว โดยบอกว่า จะพร้อมจัดส่งวัคซีนที่ปรับปรุงแล้วในฤดูใบไม้ร่วงหากจำเป็น

 

ส่วนมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว แต่ระบุเพียงว่า ทางมหาวิทยาลัยกำลังทำงานกับหุ้นส่วนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในแอฟริกาใต้ เพื่อประเมินผลของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ต่อวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตออกมา และยังคงจับตามองการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในอนาคต

 

ทั้งนี้ ขณะที่วัคซีนส่วนใหญ่สามารถรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์กลายที่พบในสหราชอาณาจักร แต่กับกรณีสายพันธุ์กลายแอฟริกาใต้นั้นดูเหมือนจะน่ากังวลกว่า โดยทั้งวัคซีนของ Johnson & Johnson และ Novavax พบว่า มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ดังกล่าวจากการทดลองทางคลินิกในแอฟริกาใต้ แม้ว่าจะสามารถป้องกันโรคที่มีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับโควิด-19 ได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม ส่วนวัคซีนของ Moderna ก็พบว่า มีประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง Moderna จะทดสอบวัคซีนโดสกระตุ้นและวัคซีนที่ปรับสูตรแล้วเพื่อรองรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้นี้

 

สำหรับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ก็มีการทดสอบกับไวรัสเทียมที่มีส่วนของการกลายพันธุ์บางส่วนมาจากไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย แต่ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้โดยตรง

 

แอฟริกาใต้ได้รับวัคซีนของ AstraZeneca 1 ล้านโดสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากทั้งหมด 1.5 ล้านโดสที่สั่งจากสถาบันเซรุ่มของอินเดีย ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกที่ถูกจัดส่งเข้ามาภายในประเทศ

 

ปัญหาด้านประสิทธิภาพของวัคซีน Oxford-AstraZeneca อาจเป็นเรื่องที่ร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะกำลังมีการผลิตวัคซีนดังกล่าวหลายพันล้านโดสแบบไม่หวังผลกำไรในระหว่างการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการศึกษาอื่นพบว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพเต็มที่ในการป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ

 

ภาพ: Dan Kitwood / Getty Images 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X