แม้ว่า MicroStrategy จะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ถือครอง Bitcoin (BTC) รายใหญ่ที่สุดในโลก แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้เล่นรายสำคัญของอุตสาหกรรมคริปโต หลังจากที่เข้ายึด Bitcoin ทั้งหมดกว่า 70,000 BTC จาก Silk Road เมื่อเดือนที่แล้ว
รัฐบาลอเมริกันมีบทบาทสำคัญในตลาดคริปโตอย่างเงียบๆ โดยมีการสะสม Bitcoin ประมาณ 215,000 BTC นับตั้งแต่ที่มีการยึดของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2020 การถือครอง BTC ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีมูลค่าทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์ไปแล้วเรียบร้อย และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป ซึ่งหากรัฐบาลยังคงยึด Bitcoin จากอาชญากรและหน่วยงานอื่นๆ ในอัตราเท่าเดิมเหมือนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การถือครอง Bitcoin ของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2024 และสิ่งนี้จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้ถือ BTC รายใหญ่ที่สุดในโลก
การถือครอง BTC ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ โดยในช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2020-2022 รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถยึด Bitcoin มาได้จำนวน 207,189 BTC จากคดีฉ้อโกงต่างๆ รวมถึงตลาดมืด Silk Road ที่โด่งดัง แฮกเกอร์ Jimmy Zhong และแฮกเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับเว็บเทรดคริปโต Bitfinex ในขณะเดียวกัน MicroStrategy บริษัทที่ถือครอง Bitcoin มากที่สุดในโลก มีการถือครองสกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งอยู่ที่ 189,150 BTC และยังคงลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้นต่อไป
สหรัฐฯ คาดว่าจะเป็นรัฐบาลที่สะสม Bitcoin รายใหญ่ที่สุดในโลก นำหน้าเอลซัลวาดอร์, ยูเครน, ภูฏาน, เวเนซุเอลา และฟินแลนด์ ซึ่งรวมกันถือครองเพียง 4,000 BTC หรือคิดเป็นมูลค่า 172 ล้านดอลลาร์ ส่วนทางด้านรัฐบาลจีนเองก็เคยยึด Bitcoin จากเครือข่ายแชร์ลูกโซ่อย่าง PlusToken เมื่อปี 2020 รวมถึงคริปโตอื่นๆ เช่น Ethereum และ XRP ด้วย ซึ่งหากรัฐบาลจีนไม่ขายเร็วเกินไปอาจทำให้จีนกลายเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจที่ครอบครอง Bitcoin รายใหญ่ที่สุดอีกแห่งของโลก
นักลงทุนในตลาดคริปโตคาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะแบ่งเทขาย Bitcoin ที่ยึดมาได้จากคดี Silk Road ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แม้จะยังไม่ได้มีการระบุเวลาอย่างเป็นทางการก็ตาม นักลงทุนจะติดตามการพัฒนานี้อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อตลาดคริปโต
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูงมาก นักลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยง ศึกษาหาข้อมูล และวางแผนในการลงทุนด้วยความรอบคอบ บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น
อ้างอิง: