×

สหรัฐฯ เผย GDP ไตรมาส 3 กลับมาโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 33.1% หนุนดัชนีดาวโจนส์ปรับเพิ่มขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
30.10.2020
  • LOADING...

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ครั้งที่ 1 ขยายตัวที่ 33.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2490 หรือเมื่อ 70 ปีก่อน

 

ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในระดับ 32% ซึ่งการขยายตัวที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ได้ปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา

 

โดยเมื่อไตรมาส 2 ปี 2563 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่งจะทำสถิติ ‘หดตัว’ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 31.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการหดตัวต่อ เนื่องจากไตรมาสแรกปี 2563 ที่หดตัว 5% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย 

 

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 751,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 อีกทั้งยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 778,000 ราย 

 

ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ รีบาวด์ กลับขึ้นมายืนในแดนบวกได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ยังเป็นไปด้วยความผันผวน ซึ่งนักลงทุนยังคงกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบ 2 ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งในสหรัฐฯ ด้วย 

 

ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวในคืนที่ผ่านมา หลังจากมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและการทำกำไรของบริษัทใหญ่ที่แข็งแกร่ง โดยดัชนี S&P 500 กับ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.2% และ 1.6% ตามลำดับ 

 

การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเห็นได้ชัดหลังทางการสหรัฐฯ ประกาศ GDP ไตรมาสที่ 3 ครั้งแรกฟื้นตัวขึ้นถึง 33.1% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) ด้วยแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว 40.7% ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (U.S. Initial Jobless Claims) ก็ลดลงเหลือเพียง 7.51 แสนตำแหน่ง ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้

 

สำหรับฝั่งนโยบายการเงิน ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัว 2.6% ในปี 2021 

 

ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่า ‘ไม่ลังเล’ ที่จะมีนโยบายการเงินเพิ่มเติมเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงไม่คลี่คลายในช่วงไตรมาสนี้

 

ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายการเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลง บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี จึงดีดตัวขึ้น 0.08% กลับที่ระดับ 0.84% โดยมีเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 0.5% นอกจากนี้ก็มีราคาน้ำมันและทองคำที่ปรับตัวลง 3.5% และ 0.5% เข้ามาประกอบ ทั้งสกุลเงินผันผวนสูง เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และสกุลเงินปลอดภัย เช่น เยนญี่ปุ่น (JPY) จึงปรับตัวลงพร้อมกัน 

 

ส่วนเงินบาท ช่วงนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยมีเพียงนักเก็งกำไรซื้อสลับขายจากมุมมองการเปิดหรือปิดรับความเสี่ยงของตลาดในช่วงสั้น เชื่อว่าเงินบาทจะทรงตัวในระดับปัจจุบันได้ไปจนกว่าจะผ่านช่วงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า

 

สำหรับเงินบาทเช้าวันนี้ (30 ตุลาคม) เปิดตลาดที่ระดับ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising