สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือ US Bureau of Economic Analysis เผยตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ครั้งที่ 1 ประจำไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่า ตัวเลขมีการขยายตัวถึง 6.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าที่ 5.5% ถือเป็นสัญญาณสะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ขัดขวางการฟื้นตัว โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
รายงานระบุว่า ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ที่สามารถฟื้นตัวได้เหนือความคาดหมาย ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ บวกกับการใช้จ่ายของภาคธุรกิจที่หันมาเพิ่มเติมสินค้าคงคลังในสต๊อก โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นข่าวดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากชะลอตัวอย่างหนักในช่วงไตรมาส 3 ก่อนหน้า เพราะปัญหาติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวทางบวกโดย GDP สามารถเติบโตได้ 6.3% และ 6.7% ตามลำดับ ก่อนที่จะชะลอตัวดิ่งลงแรงเหลือเพียง 2.3% ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต อันเป็นผลจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง และมีปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ตลอดทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ 5.7% นับเป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2526 หลังจากที่ในปี 2563 หรือปีก่อนหน้า GDP สหรัฐฯ หดตัว 3.4% ทำสถิติหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 เนื่องจากปัญหาจากการระบาดของโรคโควิด
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลข GDP จะแสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ทว่า กลับมีสัญญาณบ่งชี้ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปัจจัยแรกก็คือตัวเลขการจ้างงานประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 22 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ 260,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 265,000 ตำแหน่ง และลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 30,000 ตำแหน่ง ขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Long-lasting Goods) ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2563
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่อาจวางใจได้ และมีประเด็นให้ต้องระวัง ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโอมิครอน ความตึงเครียดกับรัสเซีย กรณียูเครน และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
ด้านสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ยังเป็นข่าวดีสำหรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เพราะหมายความว่า การบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งในปีแรกประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของโควิดได้
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวอาจไม่สามารถลากยาวมาถึงปี 2565 นี้ เพราะมีปัจจัยขวางการฟื้นตัวอย่างการระบาดของโอมิครอน อีกทั้งนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ หลายตัว กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของสหรัฐฯ ในขณะที่วิกฤตการณ์ระบาดยังไม่ยุติ ทำให้แปลความหมายได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวลงในปีนี้
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/economy/2022/1/27/us-economy-grew-6-9-in-q4-but-headwinds-are-gathering
- https://www.cnbc.com/2022/01/27/gdp-grew-at-a-6point9percent-pace-to-close-out-2021-stronger-than-expected-despite-omicron-spread.htm
- https://edition.cnn.com/2022/01/27/economy/us-fourth-quarter-2021-gdp/index.html