×

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวชัดเจน นักเศรษฐศาสตร์คาดไตรมาส 2 อาจโตถึง 13% ด้าน ‘เยลเลน’ เตือนหนทางยังไม่ราบรื่น

28.05.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ครั้งที่ 2 ประจำไตรมาสแรกของปีนี้ โดยพบว่า จีดีพีของสหรัฐฯ เป็นไปตามการประมาณการครั้งแรก คือ สามารถขยายตัวขึ้น 6.4% นับเป็นตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีที่สูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/46 และยังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4/63) ที่จีดีพีขยายตัวที่ 4.3%

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะตรงกับการประมาณการครั้งแรก แต่การเติบโตของจีดีพีดังกล่าวก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.6%

 

รายงานระบุว่า การขยายตัวของจีพีดีครั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศที่ฟื้นกลับมา ซึ่งช่วยชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวลง โดยการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐฯ คิดเป็น 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่า ด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายในทางบวก เพราะการเดินหน้ากระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดทั้งปีนี้มีแนวโน้มสดใส โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่าจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สองปีนี้มีสิทธิ์ขยายตัวแตะระดับที่ 10%

 

ลิเดีย บูสซูร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Oxford Economics ระบุว่า จีดีพีสหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน น่าจะเติบโตอยู่ที่ราว 13% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดทั้งปีนี้จะเติบโตเฉลี่ยที่ 6-7% ซึ่งจะถือเป็นการฟื้นที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 1984 ที่จีดีพีสหรัฐฯ ฟื้นขึ้นมา 7.2% หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

 

ทั้งนี้ รายงานการประมาณการครั้งนี้เป็นรายงานฉบับที่ 2 จากทั้งหมด 3 ฉบับ โดยนอกจากจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของกำลังการบริโภคภายในประเทศแล้ว ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ก็ส่งสัญญาณกลับมาลงทุนอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ที่ขยับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ช่วยชดเชยตัวเลขการส่งออกของประเทศที่ลดลง โดยยอดการส่งออกของสหรัฐฯ ในขณะนี้เติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ 2.9%

 

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเป็นไปในทิศทางบวก แต่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะเข้าชี้แจงกับคณะอนุกรรมการจัดสรรบ้านแห่งสหรัฐฯ (House Appropriations Subcommittee) หลังคณะอนุกรรมการมีความวิตกกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ

 

เยลเลนกล่าวชัดเจนว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงเป็นเส้นทางที่ไม่ราบรื่น โดยมีภาวะเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง และส่วนตัวเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อสูงจะอยู่กับสหรัฐฯ ยาวไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเดือนเมษายนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.2% ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะเป็นผลมาจากหลายปัจจัยทางเศรษฐกิจรวมกัน ดังนั้น ดัชนี CPI ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องถาวร ก่อนใช้โอกาสนี้เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีเครื่องมือเพียงพอที่จะจัดการถ้าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีในครั้งนี้ยังได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งล่าสุดที่ต่ำกว่าคาด โดยลดลง 38,000 ราย มาอยู่ที่ 406,000 รายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2020

 

ขณะเดียวกัน จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานแบบต่อเนื่องลดลง 96,000 ราย มาอยู่ที่ 3.64 ล้านราย

 

รายงานระบุอีกว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ว่าจะอยู่ที่ 425,000 ราย กระนั้น ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการครั้งแรกก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดการระบาดซึ่งอยู่ที่ระดับ 230,000 ราย

 

ความหวังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังมีขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมที่จะเปิดเผยงบประมาณประจำปี 2022 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยจะมีมูลค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

โดยหนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า งบประมาณดังกล่าวจะประกอบด้วยมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ซึ่งหมายรวมถึงการที่รัฐจะเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือภาคครัวเรือนในการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด -19

 

รายงานระบุอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีไบเดนจะเพิ่มวงเงินในงบประมาณประจำปีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2031

 

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังเตรียมประกาศเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เพื่อหารายได้มาชดเชยรายจ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณลดลงนับตั้งแต่ปี 2030

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising