มติที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยประกาศชัดเจนว่า Fed จะเริ่มลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนลง เพื่อลดการอัดฉีดเงินกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ
โดย Fed จะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงานระบุว่า ภายใต้แผนการดังกล่าวจะทำให้ Fed ยุติการซื้อพันธบัตรรายเดือนทั้งหมดภายในช่วงกลางปี 2022 ซึ่งก่อนหน้านี้ Fed ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ราย MBS รวม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของคณะกรรมการ FOMC ของ Fed ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานในสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ถือเป็นความคืบหน้าตามเป้าหมายที่ Fed ตั้งใจไว้ ดังนั้น ทางคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าการปรับลดการซื้อพันธบัตรในวงเงินที่เท่าๆ กัน ถือว่ามีความเหมาะสมในแต่ละเดือน กระนั้น Fed ก็พร้อมที่จะปรับวงเงินการซื้อพันธบัตร หากมีการเปลี่ยนแปลงต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ก่อนย้ำว่า Fed ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างตายตัว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการหากมีความจำเป็น
ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการฯ ยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25%
การประกาศปรับลดมาตรการ QE และคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในครั้งนี้เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า หลังจากที่ Fed ได้ส่งสัญญาณหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่าจะถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ที่ Fed ได้เริ่มใช้เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด
ขณะที่ในส่วนของประเด็นเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกัน ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นเพียงชั่วคราว และไม่จำเป็นต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแต่อย่างใด โดย Fed ยอมรับว่า ปัญหาที่ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกในขณะนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อกินเวลานานกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า แต่ในที่สุด Fed ยังมั่นใจว่าสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ได้ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้จะค่อยๆ ทยอยลดลง
แม้ว่ามติของ Fed ในครั้งนี้จะไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินตามปกติเมื่อใด ซึ่งหมายรวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่บรรดานักลงทุนในตลาดต่างเริ่มออกมาคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า หรือช่วงราวเดือนกรกฎาคม ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มาตรการ QE ของ Fed ยุติลงพอดี
สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า และอีก 3 ครั้งในปี 2023
การคาดการณ์ดังกล่าวปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดย ไมค์ ชูมัคเกอร์ ผู้อำนวยการด้านอัตราดอกเบี้ยแห่ง เวลส์ ฟาร์โก กล่าวว่า ก่อนที่ Fed จะเปิดเผยมติประชุมในเดือนพฤศจิกายน นักลงทุนราว 75% คาดว่า Fed น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนปีหน้า
นอกจากนี้ การที่ Fed แสดงความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ บวกกับการปรับลดวงเงิน QE ที่เชื่อว่าจะมีผลช่วยบรรเทาความกดดันจากภาวะเงินเฟ้อได้คลายความวิตกกังวลของนักลงทุน ส่งผลให้บรรยากาศตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้กลับมาคึกคัก ปรับตัวพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ระลอกใหม่อีกครั้ง
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยเพิ่มขึ้น 104.95 จุด หรือ 0.29% ปิดที่ 36,157.58 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 29.92 จุด หรือ 0.65% ปิดที่ 4,660.57 จุด และทำสถิติสูงสุดตลอดกาลอีกครั้ง ขณะที่ดัชนีแนสแด็กปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 161.98 จุด หรือ 1.04% ปิดที่ 15,811.58 จุด
เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวว่า การตัดสินลดการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นนัยที่บ่งชี้โดยตรงว่า Fed จะมีการเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด โดย Fed ยังคงต้องประเมินสถานการณ์และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจต่อไปอีกสักระยะก่อนที่จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อนย้ำว่าการดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินต่างๆ ของ Fed ในขณะนี้เป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน) ยังได้รับแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของหลายบริษัทในไตรมาสที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง โดยข้อมูลจาก FactSet พบว่า 80.9% ของบริษัทในดัชนี S&P 500 มีรายงานผลประกอบการรายได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
ด้านราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน) ขยับปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 สัปดาห์ โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 3.05 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 80.86 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 2.73 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 81.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ได้รับอิทธิพลจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ ระบุคลังน้ำมันดิบสำรองรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมากกว่า 3.3 ล้านบาร์เรล
ส่วนราคาทองคำในวันพุธ (3 พฤศจิกายน) ปิดต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 25.50 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,763.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก่อนดีดตัวขึ้นในการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หลัง Fed ตัดสินใจลดการเข้าซื้อพันธบัตร
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/11/03/economy/federal-reserve-inflation-taper/index.html
- https://www.cnbc.com/2021/11/03/traders-move-up-expectations-for-the-feds-first-rate-hike-to-the-summer-of-2022.html
- https://www.cnbc.com/2021/11/02/stock-market-futures-open-to-close-news.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP