หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียจาก HSBC เตือนผู้ส่งออกในเอเชียเตรียมเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากอุปสงค์จากตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีนกำลังชะลอตัว ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคที่น่าจะยืดยื้อ
Frederic Neumann หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียจาก HSBC กล่าวในรายการ Squawk Box Asia ของ CNBC ว่า ผู้ส่งออกในเอเชียกำลังจะเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เนื่องจากอุปสงค์จากตลาดสำคัญๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน น่าจะชะลอตัวในไม่กี่เดือนข้างหน้า
โดย Neumann ยังระบุอีกว่า ผู้ผลิตในยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับผู้ส่งออกในเอเชีย กำลังลดการผลิตลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเยอรมนี นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับผู้ส่งออกในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
การเติบโตที่อ่อนแอของจีน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม ลดลงมาอยู่ที่ 49.0 จาก 50.2 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 จะบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ส่วนดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
โดยเศรษฐกิจจีน ซึ่งในไตรมาสที่ 2 เติบโตเพียง 0.4% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับหลายประเทศในเอเชีย ดังนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนย่อมจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อทั้งภูมิภาค
Neumann กล่าวอีกว่า ภาคการผลิตถือเป็นส่วนที่เปราะบางที่สุดของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ และสัญญาณของความอ่อนแอที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ จีนแผ่นดินใหญ่ หรือในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อเอเชีย เนื่องจากเอเชียต้องพึ่งพาภาคการผลิตทั่วโลก ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน โดยประเทศเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการการผลิตทั่วโลกอย่างมาก
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
นอกเหนือจากแนวโน้มการผลิตทั่วโลกที่อ่อนแอแล้ว Neumann ยังระบุว่า ภูมิภาคเอเชียยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดยื้อ และคาดว่าจะลากยาวไปตลอดปี แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มหลุดพ้นจากจุดเดือดแล้ว ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าจ้างและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยสิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะกระทบต่อผู้ส่งออกในเอเชีย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะทำให้แรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้น
อ้างอิง: