×

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ประเมินสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 2 หลังวิกฤตแบงก์ส่อแววยืดเยื้อ คาดกระทบการค้าโลกฉุดส่งออกไทยติดลบ 1.2%

23.03.2023
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือ Technical Recession ในไตรมาส 2 หลังปัญหาวิกฤตธนาคารส่อแววยืดเยื้อ จับตาการค้าโลกชะลอฉุดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 1.2% แต่ยังคงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ที่ 3.7% จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยว

 

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ปัญหาวิกฤตธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ เนื่องจากมีธนาคารหลายแห่งที่ถูกจับตามองว่ายังไม่ได้แก้ไขปัญหางบดุล เช่น การกระจุกตัวของเงินฝาก หรือการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ผู้ฝากเงินยังขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ การที่ทางการสหรัฐฯ มีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน ทำให้การตัดสินใจอาจใช้เวลา อีกทั้งธนาคารที่จะเข้ามาซื้อกิจการในธนาคารที่ประสบปัญหาคงใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นกัน สุดท้ายแล้วธนาคารที่เป็นประเด็นอาจหลีกเลี่ยงการปิดตัวลงได้ยาก  

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางชาติอื่นๆ เข้ามาดูแลสภาพคล่องของระบบอย่างรวดเร็วน่าจะช่วยยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกได้ ส่วนในระยะถัดไป ประเด็นติดตามอยู่ที่ทางการสหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคารสหรัฐฯ ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็กหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ ก็อาจทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กระทบผลประกอบการธนาคารกลุ่มดังกล่าวในระยะกลาง 

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น คาดการณ์ว่าปัญหาภาคธนาคารจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งภาพความกังวลข้างต้นสะท้อนผ่านโมเมนตัมการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 21-22 มีนาคม) ที่ผ่อนคันเร่งลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากช่วงก่อนเกิดปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% 

 

“เราคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งเร็วขึ้นกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า โดยตัวแปรสำคัญคือปัญหาในภาคการธนาคารที่จะส่งผลกระทบให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง” ณัฐพรกล่าว

 

ณัฐพรกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าเดิมน่าจะมีผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการค้า โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 1.2%  ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยทยอยปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานที่ลดลงตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ลงมาที่ 2.8% จากเดิมที่ 3.2%

 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีปัจจัยบวกที่ช่วยต้านผลกระทบข้างต้น คือภาคการท่องเที่ยว ที่น่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 ที่อาจสูงกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 25.5 ล้านคน มาที่ 28.5 ล้านคน ทำให้ในภาพรวมแล้วจึงยังคงประมาณการ GDP สำหรับทั้งปี 2566 ไว้ที่ 3.7% ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นประเด็นที่ยังคงติดตามต่อไป เช่น ปัญหาภาคธนาคารในยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างมากต่อเนื่องไปในไตรมาส 2 ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศที่ยังไม่นิ่ง แต่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่ชะลอความแรงลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในกรอบ 34 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะทยอยลดลงสู่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะปรับขึ้นได้อีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้

          

ส่วนผลกระทบของปัญหาธนาคารชาติตะวันตกต่อไทยอยู่ในกรอบจำกัด เพราะธนาคารไทยมีโครงสร้างงบดุลที่กระจายตัวดีกว่า เช่น มีพอร์ตสินเชื่อที่ใหญ่กว่าเงินลงทุน พอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวตามกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ รวมถึงมีเงินฝากที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงหรือลูกค้าธุรกิจองค์กร เหมือนดังกรณีธนาคารสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ธนาคารไทยยังมีสภาพคล่องและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง แข่งขันได้ในระดับสากล ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังอีกด้วย

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising