×

จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำตลาดหุ้นโลกปั่นป่วน กังวลนโยบายเศรษฐกิจของทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ที่ต่างขั้ว

11.09.2024
  • LOADING...

รุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการอาวุโส Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามใน 3 ประเด็นที่จะมีผลต่อภาพรวมการลงทุนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ของโลก ดังนี้

 

ประเด็นแรก เป็นปัจจัยระยะสั้นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ ทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่ามีความเป็นไปได้สูงถึง 75% ที่ Fed จะมีการลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในอัตราที่ 0.50% นั้น มีต่ำกว่า

 

อีกทั้งยังติดต้องตามวัฏจักรการลดดอกเบี้ยทั้งในยุโรป จีน และไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน

 

ขณะที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงดอกเบี้ยอยู่ที่ 0% มีโอกาสที่จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นนโยบายการเงินที่มีความสวนทางกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

ทั้งนี้ ในระยะสั้นหาก Fed มีการปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายนนี้ตามที่คาดการณ์ โดยปัจจุบันเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ, NASDAQ หรือ S&P 500 เริ่มเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway Down เนื่องจากมีการตอบรับการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ไปล่วงหน้าแล้ว

 

อีกทั้งนักลงทุนยังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังว่า Fed จะมีการลดดอกเบี้ยจริงตามที่มีการคาดการณ์ไว้หรือไม่ โดยมองว่า การปรับตัวลงของหุ้นสหรัฐฯ ขนาดใหญ่จะเป็นในลักษณะ Healthy Correction

 

และหากผลการประชุมของ Fed ออกมามีการลดดอกเบี้ยเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจมีการเคลื่อนไหวตอบรับในลักษณะทรงตัว หรือมีโอกาส Sideway Up ได้เล็กน้อยในช่วงระยะเวลาถัดจากนี้ไป

 

รุ่งโรจน์ยังให้มุมมองต่อว่า หาก Fed มีการเร่งอัตราการลดดอกเบี้ยมากเกินไป อาจเป็นการส่งสัญญาณข้อมูลเชิงลบ (Negative News) ที่สร้างความกังวลให้กับภาพการลงทุนในตลาดหุ้นว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ความผันผวน จึงมีความจำเป็นที่ Fed ต้องเร่งลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

 

ดังนั้นจึงมองว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ Fed จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

 

จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ ป่วนตลาดหุ้นโลก

 

ประเด็นที่ 2 ระยะกลางให้ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจะมีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของโลกอย่างไร

 

โดยหากดูนโยบายของ คามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต จะมีนโยบายที่เป็นประชานิยม ทั้งด้านการลดความเหลื่อมล้ำช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งมีนโยบายหลักๆ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราภาษีกับกลุ่มคนรวย มีการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล รวมทั้งมีการจัดเก็บรายได้และกำไรจากการขายสินทรัพย์ (Captital Gain) บรรจุอยู่ในนโยบายหาเสียง

 

ส่วนนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน จะเน้นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เป็นทุนนิยม (Capitalism) จึงไม่มีแผนในการปรับขึ้นอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับในประเทศของสหรัฐฯ รวมทั้งมีนโยบายที่จะปรับลดภาษีนิติบุคคลลงมาอีกด้วย

 

อีกทั้งยังมีนโยบายในต่างประเทศที่เน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ โดยต้องติดตามกันว่านโยบายของพรรคใดจะสามารถดึงดูดคะแนนเสียงจากประชาชนชาวอเมริกันได้มากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ภาพการลงทุนระยะกลางในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเห็นความผันผวนหรือสร้างความปั่นป่วน จากผลกระทบจากปัจจัยการเลือกตั้งสหรัฐฯ นับตั้งแต่นี้จนกระทั่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทยอยออกมา มีความแตกต่างกันจากสองผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาพของเศรษฐกิจและการลงทุน

 

หวั่นระยะยาวสหรัฐฯ เผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

 

ประเด็นที่ 3 ในระยะยาวให้ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่บางภาคส่วนเริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนแอลงบ้าง หลังจากช่วงที่ผ่านมา GDP ของสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดี 

 

ขณะที่เงินออมของประชาชนชาวอเมริกันที่เคยอยู่ในระดับสูงในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มปรับลดลง รวมทั้งประชาชนชาวอเมริกันเริ่มหันไปใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เริ่มเห็นแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) ในกลุ่มบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลของสหรัฐฯ เร่งตัวสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่เริ่มมีความกังวลขึ้นมาบ้าง

 

ทั้งนี้สะท้อนว่า ในอนาคตภาคการบริโภคของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้ในระยะถัดไป

 

ด้านภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหากดูข้อมูลย้อนหลัง 6 วันทำการที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับกว่า 4% จากระดับ 1,300 จุด มาอยู่ที่ประมาณ 1,400 จุด เนื่องจากเริ่มเห็นทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิค่อนข้างสูงรวม 1 หมื่นล้านบาท แม้นักลงทุนรายย่อยจะเป็นผู้ขายสุทธิในหุ้นไทยออกมา

 

อย่างไรก็ดี หากติดตามข้อมูลในช่วงปี 2567 ที่นักลงทุนต่างชาติเคยขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยสูงสุดไปถึงราว 1.2 แสนล้านบาท ก็เริ่มทยอยลดลงเหลือขายสุทธิราว 1 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้หากมีเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นตัวช่วยหักลบ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่เคยขายสุทธิออกไปด้วย ดังนั้นประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะสามารถยืนอยู่ได้ในระดับปัจจุบันที่ระดับ 1,400 จุด อีกทั้ง Forward P/E ของตลาดหุ้นไทยอยู่ระดับ 16 เท่า ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 17 เท่า ดังนั้นคาดว่าตลาดหุ้นไทยจึงมี Upside 

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกระยะสั้นจากนโยบายภาครัฐที่จะเข้ามากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลซื้อกองทุนรวมเพื่อใช้รถหย่อนภาษี ส่งผลให้จะมีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมจากหลายส่วนนับตั้งแต่นี้จนถึงช่วงปลายปีนี้ เป็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นตลาดไทยได้

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้มองข้ามช็อตไปถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2568 ซึ่งอาจมีความผันผวนทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเห็นการชะลอตัวลง 

 

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในปี 2568 จึงแนะนำให้สร้างความสมดุลของพอร์ตลงทุนระหว่างตลาดหุ้นกับตราสารหนี้ โดยแนะนำกลุ่มนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นปัจจุบันค่อนข้างสูงในพอร์ตให้มีการทยอยลดสัดส่วน หรือมีการทยอยขายทำกำไรเพื่อลดสัดส่วนลงมาบ้าง

 

นอกจากนี้ให้มีการกระจายการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เคยปรับตัวดีมาต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยของ BOJ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงขาขึ้น จึงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงย้ายเงินลงทุนออกไปในตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ 

 

อีกทั้งยังเน้นลงทุนทยอยซื้อหุ้นในกลุ่มคุณภาพดี (Quality) ที่มีผลประกอบการเติบโตค่อนข้างดี

 

รวมทั้งแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงอายุ 3-4 ปี โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มที่มี Quality รวมถึงกระจายความเสี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ อีกทั้งจากทิศทางตลาดดอกเบี้ยที่กำลังปรับลดลง จึงควรลงทุนในตราสารหนี้เพิ่ม เพื่อล็อกผลตอบแทนรับดอกเบี้ยในระดับที่สูง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising