×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ‘ตุลาการภิวัตน์’ และ ‘ความปราชัยแห่งสิทธิสตรี’ ผ่านการเสนอชื่อผู้พิพากษาสูงสุดหญิงคนใหม่ของผู้นำสหรัฐฯ

28.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดแทน รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
  • หากวุฒิสภาลงมติรับรองบาร์เรตต์ จะทำให้ศาลสูงสุดมีผู้พิพากษาแนวคิดอนุรักษนิยม 6 คนต่อเสรีนิยม 3 คน
  • เดโมแครตและองค์กรสิทธิชี้ การเสนอชื่อบาร์เรตต์คือภัยคุกคามต่อสิทธิสตรี 
  • การเสนอชื่อบาร์เรตต์ทำให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือรวม 3 คน

“วันนี้ผมเป็นเกียรติมากที่จะขอเสนอชื่อผู้ทรงภูมิแห่งกฎหมายเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด เธอเป็นสตรีผู้ประสบความสำเร็จอย่างหาใครเปรียบ ทรงปัญญา เปี่ยมความเหมาะสม และจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญ” 

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวไว้ในช่วงปลายเดือนกันยายน ด้วยบทพูดที่ประดิษฐ์คำมาอย่างดีบนโพเดียม ณ โรสการ์เดนในทำเนียบขาว ก่อนหันไปยังหญิงวัย 48 ปีที่ยืนห่างออกไปไม่ไกล 

 

“ผู้พิพากษา เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์” แล้วเสียงปรบมือและกู่ร้องด้วยความปีติก็ดังขึ้นจากบรรดาสักขีพยาน ทั้งวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน นักการเมือง และนักกฎหมายสายอนุรักษนิยม

 

แต่เบื้องหลังเสียงแห่งความปีติยินดีคือความขุ่นเคืองใจและสิ้นหวังของนักการเมืองพรรคเดโมแครตที่คุกรุ่นมานับแต่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาศาลสูงสุดฝ่ายเสรีนิยมเสียชีวิตด้วยวัย 87 ปีจากโรคมะเร็งเมื่อไม่นานมานี้

 

ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 7 ล้านคน ผู้เสียชีวิตทะลุ 2 แสนคน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 40 วันข้างหน้า นี่เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์ไม่ปิดบังเจตนารมณ์ในการมุ่งลิดรอนสิทธิการเข้าถึงประกันสุขภาพของชาวอเมริกัน 

 

“การลงคะแนนรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุด เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ของวุฒิสมาชิกไม่ว่าจะคนใด คือการลงคะแนนเพื่อล้มเลิกรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้า และขจัดความคุ้มครองชาวอเมริกันหลายล้านคน” ชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ระบุในแถลงการณ์ภายหลังคำประกาศเสนอชื่อบาร์เรตต์

 

“ทรงปัญญา เปี่ยมความเหมาะสม และจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญ” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงบาร์เรตต์

 

“คุณจะทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมแน่นอน” ทรัมป์ทิ้งท้ายกับบาร์เรตต์ด้วยคำพูดแบบฉบับของเขา เป็นดั่งเสียงระฆังลั่นกลองรบถึงศึกสำคัญในวุฒิสภา 

 

สำหรับรีพับลิกัน มันคือการต่อสู้เพื่อรับรองผู้พิพากษาหญิงคนนี้ให้สำเร็จ แต่กับเดโมแครต พวกเขาต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้น เพราะหากบาร์เรตต์ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด หมายความว่าสมดุลของศาลสูงสุดจะโน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยมมากขึ้น ด้วยจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดเอียงขวา 6 คน ต่อสายเสรีนิยมที่เหลือเพียง 3 คน

 

ไม่เพียงเท่านั้น ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด 9 คนยังเป็นตำแหน่ง ‘ตลอดชีวิต’ หมายความว่าสมดุล ‘อนุรักษนิยม-เสรีนิยม’ ของศาลสูงสุดจะส่งผลต่อเนื่องกับนโยบายสำคัญต่างๆ ของสหรัฐฯ อีกนานหลายสิบปีจนกว่าผู้พิพากษาจะเสียชีวิตหรือเลือกเกษียณอายุ รวมถึงไม่ว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 หรือไม่ก็ตาม

 

หากพูดถึงความสำคัญของศาลสูงสุด ยกตัวอย่างในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ศาลได้ขยายการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันให้ถูกกฎหมายครอบคลุม 50 รัฐ อนุมัติการสั่งห้ามการเดินทางไปยังชาติมุสลิม หรือ ‘ทราเวลแบน’ ตามคำร้องของทรัมป์ และชะลอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน 

 

‘ตุลาการภิวัตน์’ แบบฉบับสหรัฐฯ

กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาศาลสูงสุดผู้ล่วงลับท่ามกลางความเศร้าสลดของขั้วการเมืองเสรีนิยม เป็นหญิงเหล็กที่มุ่งมั่นทลายอคตินิยมต่อศักยภาพสตรีเพศ และต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของผู้หญิงมาชั่วชีวิตการทำงาน

 

การเสียชีวิตของกินส์เบิร์กคือฟ้าผ่าเปรี้ยงใหญ่กลางพรรคเดโมแครต

 

แต่ ลอร่า โคเทส นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกฎหมายของ CNN มองว่าการเสนอชื่อบาร์เรตต์มาแทนบัลลังก์ที่ว่างลงของกินส์เบิร์กคือ ‘การช้อปปิ้งความยุติธรรม’ (Justice Shopping) ที่คงทำให้ผ้าปิดตาของเทพีแห่งความยุติธรรมลุกเป็นไฟ

 

“มันเป็นความพยายามหาตุ๊กตาทางการเมืองเพื่อชักใยซ่อนเร้นด้วยอาภรณ์แห่งตุลาการ” และ “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประธานาธิบดีพยายามหาประโยชน์เข้าพรรคตัวเอง แต่เป็นความเสื่อมคลอนของการแบ่งแยกอำนาจ” อธิบายให้เข้าใจง่าย การกระทำของทรัมป์คือการหนุนหลัก ‘ตุลาการภิวัตน์’ ที่อำนาจตุลาการต้องสงสัยว่าถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลและเป้าหมายทางการเมือง

 

เสียงวิพากษ์จากฟากฝั่งพรรคเดโมแครตเรียกว่าสามัคคีกันโจมตีการเสนอชื่อบาร์เรตต์ว่าเป็นอีกคราที่ทรัมป์มุ่งเพิกถอน ‘โอบามาแคร์’ นโยบายชูโรงของเดโมแครต ซึ่งช่วยให้ชาวอเมริกันรายได้น้อยเข้าถึงประกันสุขภาพ

 

“ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามโยนรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้าทิ้งมา 4 ปีแล้ว ส่วนรีพับลิกันพยายามโค่นกฎหมายนี้มาร่วมทศวรรษ แต่ล้มเหลว เพราะศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายนี้ตรงตามหลักรัฐธรรมนูญมาสองครั้งสองครา” โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต และอดีตรองประธานาธิบดีสมัยโอบามากล่าวในแถลงการณ์

 

“แต่แม้เวลานี้ที่เรากำลังเผชิญโรคระบาด รัฐบาลทรัมป์ดึงดันจะให้ศาลสูงสุดเพิกถอนกฎหมายนี้ทั้งฉบับ เพิกถอนความคุ้มครองสุขภาพของประชาชน”

 

หากวุฒิสภารับรองบาร์เรตต์เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด บทบาทสำคัญแรกของเธอคือการไต่สวนถึงอนาคตของโอบามาแคร์ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ หรือเพียง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน

 

ชัยชนะและความปราชัยแห่งสตรีเพศ

หากศาลสูงสุดตัดสินให้โอบามาแคร์มิชอบด้วยกฎหมายและเพิกถอนกฎหมายทั้งฉบับ ไม่เพียงชาวอเมริกันหลายล้านคนที่มีรายได้น้อยและป่วยด้วย ‘โรคพึงรู้ก่อนความคุ้มครองของบริษัทประกัน’ (Pre-existing Conditions) จะไม่มีประกันสุขภาพ แต่นั่นยังนำไปสู่การลิดรอนสิทธิของผู้หญิงเพื่อเข้าถึงการคุมกำเนิด ซึ่งรวมอยู่ในแผนคุ้มครองของโอบามาแคร์ด้วย 

 

เอมิลี มาร์ติน รองประธานด้านการศึกษาและความยุติธรรมในที่ทำงาน ศูนย์กฎหมายแห่งชาติเพื่อผู้หญิง ชี้ว่าปัญหาไม่จบแค่นั้น จุดยืน ‘อนุรักษนิยม’ ของบาร์เรตต์อาจทำให้การต่อสู้ทางตุลาการของสตรีเพศในสหรัฐฯ ยากลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันทางเพศและการล่วงละเมิดในสถานที่ทำงาน  

 

อีกกฎหมายที่ถูกจับตาไม่แพ้โอบามาแคร์คือ ‘Roe v Wade’ ซึ่งตั้งตามชื่อคดีดังในปี 1973 ที่นำมาสู่สิทธิการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้บาร์เรตต์จะไม่ได้ประกาศจุดยืนของเธอในเรื่องนี้ แต่บทความทางวิชาการและตุลาการของเธอที่แล้วมามักตั้งข้อสงสัยถึงการตีความสิทธิการทำแท้งอยู่บ่อยครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์เคยให้คำมั่นว่าจะแต่งตั้ง ‘ผู้พิพากษาที่ชูสิทธิการมีชีวิต’ (Pro-life) หรือหลักการว่าชีวิตเริ่มต้นนับแต่เกิดการปฏิสนธิในครรภ์มารดา ซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก

 

กองทุนการวางแผนครอบครัว (Planned Parenthood Action Fund) ประเมินว่าหากศาลสูงสุดเพิกถอน ‘Roe v Wade’ ผู้หญิงกว่า 25 ล้านคนในสหรัฐฯ อาจไม่สามารถเข้าถึง ‘การทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัย’ ได้

 

ปัจจุบันการทำแท้งถูกกฎหมายใน 50 รัฐ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและการพิจารณาของศาล

 

แม้จะนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่บาร์เรตต์กล่าวย้ำมาตลอดว่า “ความเชื่อทางศาสนาส่วนตัวจะไม่แทรกแซงหน้าที่ของฉันในฐานะผู้พิพากษา”

 

ดูเหมือนการเสนอชื่อผู้หญิงคนที่สองที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดกลับกลายเป็นการคุกคามสิทธิสตรีที่ชาวอเมริกันและเดโมแครตพยายามมาหลายทศวรรษเพื่อให้ได้มาครอบครอง

 

เอลิซาเบธ สแลตทรีย์ อัยการรัฐวอชิงตัน แสดงความเห็นว่าการเสนอชื่อบาร์เรตต์เป็นเสมือนชัยชนะทางอุดมคติของกินส์เบิร์กที่พยายามรณรงค์ความเท่าเทียมของผู้หญิงในระบอบตุลาการ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาอาจไม่คุ้มค่านัก หากหญิงอเมริกันต้องสูญเสียสิทธิการเข้าถึงการคุมกำเนิดและการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายไป

 

——

สรุปจุดยืนบาร์เรตต์ต่อนโยบายสำคัญ

(อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The New York Times)

 

ประกันสุขภาพ บาร์เรตต์คัดค้านคำตัดสินของศาลสูงสุดให้คงโอบามาแคร์ต่อไป ด้วยเหตุผลว่า ‘ขัดกับอำนาจรัฐบัญญัติ’

 

การทำแท้ง เธอตัดสินห้ามการทำแท้ง 3 คดีในรัฐอินดีแอนา แต่เมื่อขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เธอยืนกรานว่าผู้พิพากษาไม่ควรนำความเห็นส่วนตัวมาตัดสิน และยึดคำตัดสินเดิมของศาลสูงสุดว่าด้วยการทำแท้ง


สิทธิครอบครองปืน เมื่อปี 2019 บาร์เรตต์ระบุว่าเธอจะระงับอำนาจการบังคับใช้กฎหมายห้ามบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรมไม่ให้ครอบครองปืน เพราะมองว่าหากเป็นอาชญากรรมที่ไม่ได้เกิดจากความรุนแรง เราก็ไม่มีสิทธิ์ห้ามบุคคลนั้นๆ ไม่ให้มีปืนในครอบครอง ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามบัญญัติข้อที่ 2 ของรัฐธรรมนูญ (Second Amendment)


โทษประหารชีวิต เมื่อรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เธอปฏิญาณว่าจะขับเคลื่อนให้มีโทษประหารชีวิต 

 

——

ทรัมป์ ‘มือแต่งตั้งผู้พิพากษาฯ’

การเสียชีวิตของผู้พิพากษากินส์เบิร์กเปรียบดั่งฟ้าผ่าดังเปรี้ยงลงกลางค่ายเดโมแครต และเป็น ‘โอกาสฟ้าประทาน’ ที่ทรัมป์สามารถใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนไปจากความล้มเหลวต่อการรับมือโควิด-19

 

ที่สำคัญ สิทธิเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ได้ย้ำเตือนนักการเมืองพรรครีพับลิกันที่ ‘มีใจออกห่าง’ ถึงอำนาจในเงื้อมมือของทรัมป์ และข้อเท็จจริงว่าประธานาธิบดีทรัมป์เสนอ-แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดแนวคิดอนุรักษนิยมมาแล้ว 2 คนในสมัยการปกครองแรกของเขา และหากรวมบาร์เรตต์ด้วยจะมากถึง 3 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ทรัมป์เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดมาแล้ว 3 คนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

 

สำหรับคนที่สนับสนุนรีพับลิกัน ถือได้ว่าทรัมป์ทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้กับชาวอเมริกันในช่วงการหาเสียงเมื่อ 4 ปีก่อนได้สำเร็จ นั่นคือการเสนอชื่อผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมให้มากที่สุดเพื่อปฏิรูปศาลตุลาการไปอีกหลายชั่วอายุคน

 

“ว่ากันว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่คุณทำได้ (ในฐานะประธานาธิบดี) คือการแต่งตั้งผู้พิพากษา โดยเฉพาะผู้พิพากษาศาลสูงสุด” ทรัมป์ปราศรัยต่อผู้สนับสนุนในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

 

“เพราะมันจะกำหนดทิศทางประเทศไปอีก 40-50 ปีนับจากนี้”

 

รีพับลิกันกับจุดยืน ‘สองมาตรฐาน’

คณะกรรมาธิการวุฒิสภาว่าด้วยตุลาการซึ่งรับหน้าที่คัดสรรบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด มีกำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติของบาร์เรตต์ในวันที่ 12 ตุลาคม โดยการพิจารณาจะใช้เวลา 3-4 วัน 

 

หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการจะลงคะแนนว่าจะส่งต่อผู้ได้รับการเสนอชื่อ (บาร์เรตต์) ให้วุฒิสภารับรองหรือไม่ 

 

วุฒิสภาสหรัฐฯ มีวุฒิสมาชิก 100 คน ในจำนวนนี้มาจากพรรครีพับลิกัน 53 คน ซึ่งเพียงพอสำหรับเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพื่อลงมติรับรองบาร์เรตต์ ขณะที่ มิตช์ แม็กคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาจากรีพับลิกัน ให้คำมั่นว่าจะจัดการประชุมรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 

 

นับแต่ผู้พิพากษากินส์เบิร์กเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กันยายน เดโมแครตโจมตีวุฒิสมาชิกรีพับลิกันมาตลอดว่าเป็นพวก ‘เสแสร้ง’ ‘กลับกลอก’ และ ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ จากความพยายามรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปีเลือกตั้ง

 

เพราะเมื่อปี 2016 แม็กคอนเนลปฏิเสธที่จะจัดการประชุมรับรองให้ เมอร์ริก การ์แลนด์ ที่โอบามาเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้น 237 วัน 

 

มิตช์ แม็กคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน

 

พรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากเช่นกันสกัดข้อเสนอของโอบามาสำเร็จด้วยข้ออ้างว่าการเลือกผู้พิพากษาศาลสูงสุดไม่ควรมีขึ้นในปีเลือกตั้ง แต่มาครั้งนี้แม็กคอนเนลกลับลำและชื่นชมการเสนอชื่อบาร์เรตต์ว่า “ประธานาธิบดีเลือกได้ถูกคนแล้ว” ทั้งที่เป็นการเสนอชื่อก่อนการเลือกตั้งไม่ถึง 40 วันด้วยซ้ำ

 

เดโมแครตจึงวิจารณ์ว่ารีพับลิกันทรยศต่อจุดยืนของตนเอง ลิดรอนสิทธิของชาวอเมริกันที่จะให้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่พวกเขาลงคะแนนเลือกเป็นคนเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ ขณะที่ไบเดนมองว่าทรัมป์กำลัง ‘ใช้อำนาจโดยมิชอบ’

 

ว่าที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่คือใคร

เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 7th Circuit Court of Appeals ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ภายใต้การแต่งตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อปี 2017 เธอมักเดินทางไปทำงานจากบ้านของเธอในเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินดีแอนา ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง

 

เธอจบการศึกษาด้วยคะแนนอันดับหนึ่งจากวิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยน็อทร์ดามในรัฐอินดีแอนา ก่อนทำงานเป็นเสมียนศาลให้อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด แอนโทนิน สกาเลีย ซึ่งเป็นสายอนุรักษนิยมเช่นกัน 

 

บาร์เรตต์มีแนวคิดสอดคล้องกับสกาเลียผู้เป็น ‘พี่เลี้ยง’ ของเธอ คือผู้พิพากษาควรมุ่งตีความถ้อยคำในรัฐธรรมนูญตามความประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ซึ่งขัดกับแนวคิดเสรีนิยมที่มองว่ากฎหมายควรพัฒนาและปรับเปลี่ยนตามพัฒนาการของสังคมและยุคสมัย

 

บาร์เรตต์แต่งงานกับ เจสซี บาร์เรตต์ อดีตอัยการกลางที่ตอนนี้ทำงานให้กับบริษัทเอกชน ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 7 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นเด็กที่พวกเขาอุปการะจากเฮติ บาร์เรตต์เองเติบโตในครอบครัวลูก 7 เช่นกัน โดยเธอเป็นพี่สาวคนโต

 

นอกเหนือจากงานผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เธอยังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ให้กับมหาวิทยาลัยเก่าของเธอ เธอได้รับเลือกเป็นศาสตราจารย์แห่งปีมาหลายครั้ง หนึ่งในลูกศิษย์ของเธอในปีนี้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าบาร์เรตต์เป็นที่นิยมของนักศึกษามาก เพราะวิธีการสอนของเธอมักผลักดันให้ทุกคนในชั้นเรียนมีส่วนร่วม 

 

แต่ลูกศิษย์ของเธออีกคนบอกต่อเว็บไซต์ข่าว WBEZ ว่า “ฉันมีความรู้สึกที่ย้อนแย้งกับบาร์เรตต์ แน่นอนว่าเธอเป็นศาสตราจารย์ที่ยอดเยี่ยม ไม่เคยเอาเรื่องการเมืองมาคุยในชั้นเรียน… แต่ฉันไม่เห็นด้วยกับหลักการของเธอเลย ฉันไม่คิดว่าเธอจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและศาลสูงสุด”

 

โจนาธาน เทอร์ลีย์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน วิเคราะห์ว่าจากประวัติการตัดสินคดีความที่แล้วมาของบาร์เรตต์ต่อคดีสิทธิการครอบครองปืนและผู้อพยพเข้าเมือง ทำให้เชื่อได้ว่าเสียงโหวตของเธอในชั้นศาล ‘จะเอียงไปทางฝ่ายขวา’

 

“หากกินส์เบิร์กเป็นหนึ่งในเสียงแห่งแนวคิดเสรีนิยมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ศาลสูงสุด บาร์เรตต์เองก็ยืนหยัดและยึดมั่นในแนวคิดของเธอเช่นกัน… เธอคือเสียงแห่งอนุรักษนิยมขั้นสุด”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X