การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างกำลังจับจ้องไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของกระแสเงินลงทุนทั่วโลกหลังจากนี้
จากกระแสของผลสำรวจคะแนนความนิยมในปัจจุบัน อาทิ National Polls จากการรายงานของ The Guardian ดูเหมือนว่า โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต มีแนวโน้มมากกว่าที่จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้
3 ความเป็นไปได้ของผลเลือกตั้งสหรัฐฯ กับทิศทางเงินลงทุน
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า กรณีแรก ที่มีความเป็นไปได้สูงสุดสำหรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้คือ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง พร้อมกับที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง
เมื่อดูจากนโยบายที่ไบเดนชูขึ้นมาในช่วงหาเสียง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขึ้นภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายรายได้ไปยังฐานล่างมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนพลังงานสะอาด ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นภาพที่ยังไม่ชัดเจน
ในด้านหนึ่งจากนโยบายที่จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มีแนวโน้มแย่ลง แต่อีกด้านหนึ่งคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังขนาดใหญ่ จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย
ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) น่าจะเป็นภาพเชิงบวกเล็กๆ จากสงครามการค้าที่อาจจะรุนแรงน้อยลง ด้วยท่าทีของไบเดนที่สามารถคาดเดาได้ง่ายมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าคือ ‘พลังงานทางเลือก’ และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สวนทางกับพลังงานดั้งเดิมอย่างน้ำมันและถ่านหิน ที่อาจจะเห็นเงินทุนไหลออก ในกรณีที่ไบเดนชนะการเลือกตั้ง
กรณีที่สอง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง พร้อมกับที่สภาสูงและสภาล่างครองโดยคนละพรรค ทำให้การขึ้นภาษีธุรกิจน่าจะทำได้ยาก ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังเป็นเป้าหมายหลักที่ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกยังให้น้ำหนักการลงทุนต่อไป และเงินลงทุนก็น่าจะกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ
ส่วนความกังวลต่อกลุ่มพลังงานดั้งเดิมจะยังไม่มากเท่าใดนัก ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่อาจจะกังวลกับสงครามการค้าต่อไป รวมถึงความไม่แน่นอนของทรัมป์ที่อาจจะสุดโต่งมากขึ้นสำหรับการดำรงตำแหน่งในสมัยสุดท้าย
กรณีที่สาม โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง พร้อมกับพรรครีพับลิกันครองสภาสูง และสภาล่างครองโดยพรรคเดโมแครต กรณีนี้ค่อนข้างจะเป็นกลางคือ นโยบายใดๆ ที่ต่างฝ่ายต่างจะผลักดัน อาจจะติดอยู่ในสภาสูงหรือสภาล่าง และกระแสเงินทุนอาจไม่ได้มีทิศทางชัดเจน
“หากผลที่ออกมาเป็นกรณีแรก เชื่อว่าจะเห็นการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และซัพพลายของบอนด์ที่มากขึ้น หนุนให้บอนด์ยีลด์ (Bond Yield) สหรัฐฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้จะฟันธงง่ายคือ จะเห็นเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ที่เน้นจ่ายเงินปันผลสูง ขณะที่ทองคำต้องติดตามว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นหรือไม่ หากไม่ขึ้นตาม ทองคำก็มีโอกาสจะได้รับผลกระทบเช่นกัน”
แล้วตลาดหุ้นไทยจะตอบรับอย่างไร
สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองไปในทิศทางที่คล้ายกันว่า กรณีที่ไบเดนชนะการเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะแง่ของการค้า
ขณะที่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จะดำเนินต่อไป ซึ่งจะหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้น และคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีอ่อนแอกว่าตลาด EM จากปัจจัยเสี่ยงด้านการปรับเพิ่มอัตราภาษีคือ การปรับขึ้นภาษีบุคคลธรรมดา จาก 37% เป็น 39.6% และภาษีนิติบุคคล จาก 21% เป็น 28%
ทั้งนี้หากไบเดนชนะการเลือกตั้งจริง คาดว่าหุ้นไทยรายตัว ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) บมจ.โอสถสภา (OSP) บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) บมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) และบมจ.พรีเชียส ชิปปิ้ง (PSL) เนื่องจากโอกาสที่สหรัฐฯ จะยกเลิกคว่ำบาตรผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อาทิ อิหร่าน เวเนซุเอลา เป็นต้น ซึ่งอาจกดดันให้ราคาน้ำมันลดลง รวมถึงความสัมพันธ์กับจีนที่น่าจะดีขึ้น
แต่หากทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ มองว่าหุ้นอย่าง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) กลุ่มหุ้นโทรคมนาคม (ICT) และกลุ่มกองรีท (REIT) จะโดดเด่นขึ้นมา จากการที่ทรัมป์มีโอกาสดำเนินมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านและเวเนซุเอลา รวมถึงส่งเสริมสภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราภาษีต่ำต่อไป
ส่วนเป้าหมายของดัชนี SET ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ประเมินไว้ที่ระดับ 1,480 จุด จากมุมมองเชิงบวกต่อการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ขณะที่คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทยค่อนข้างทรงตัว และคาดว่ากำไรโดยรวมครึ่งหลังปี 2563 ของบริษัทภายใต้การวิเคราะห์ของเราจะดีขึ้น 80% จากครึ่งปีแรก โดยไม่คาดว่าตลาดจะปรับลด EPS ลงมากเหมือนครึ่งปีแรกที่ผ่านมา นอกเสียจากว่าความพร้อมของวัคซีนจะล่าช้าออกไปมากจากที่คาดไว้ว่าจะพร้อมใช้งานช่วงกลางปี 2564
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: