×

ตลาดการเงินไทย และคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

06.11.2020
  • LOADING...
ตลาดหุ้น สหรัฐ

ภาพรวมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ถือว่ามีความน่าสนใจในหลายๆ เรื่อง เช่น ความตื่นตัวของคนอเมริกันที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ และที่อยู่ในความสนใจมากที่สุดคือผลสำรวจซึ่งต้องเรียกว่าผิดคาดอีกแล้ว แม้ว่าสถาบันที่จัดทำผลสำรวจจะพยายามปรับปรุงวิธีการโดยศึกษาจากบทเรียนในอดีตเพื่อเพิ่มความแม่นยำแล้วก็ตาม ซึ่งในเบื้องต้นมีผลกระทบต่อการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนต้องปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับผลการเลือกตั้งจริงให้มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เคยปรับตัวเพิ่มขึ้นไปก่อนหน้านี้เริ่มปรับตัวลดลง

 

ทั้งนี้ หากย้อนเวลาไปก่อนการเลือกตั้งจริงสัก 2-3 วัน จะพบว่าผลสำรวจคาดการณ์ว่า โจ ไบเดน มีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้ง รวมถึงพรรคเดโมแครตยังมีโอกาสที่จะครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หรือที่นักลงทุนในตลาดเรียกกันว่า Blue Wave แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งจริงกลับออกมาสูสีมากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งสหรัฐฯ ระหว่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และอัล กอร์ ในปี 2000 โดยเฉพาะการเชือดเฉือนกันในรัฐที่เรียกว่าไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ (Swing State) เช่น มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย, นอร์ทแคโรไลนา, วิสคอนซิน และจอร์เจีย ที่มีผลรวมของคณะเลือกตั้งถึง 77 ที่นั่ง ซึ่งเพียงพอกับการตัดสินเส้นทางสู่ทำเนียบขาว

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

สำหรับในเรื่องการลงทุน ประเมินว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรก็จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นๆ เนื่องจากตลาดชอบความชัดเจน แต่หลังจากนั้นคงต้องติดตามพัฒนาการในด้านนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร โดยเราประเมินว่านโยบายแรกที่ตลาดกำลังติดตามคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังที่ยังคงค้างอยู่ ต่อมาคือการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นประธานาธิบดี โดยหากเป็นไบเดนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากก็คาดว่าจะมีมาตรการมินิล็อกดาวน์คล้ายในยุโรป ซึ่งก็คงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นบ้าง

 

ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่มีการหาเสียงไว้ เช่น การขึ้นภาษี การขึ้นค่าแรง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสาธารณสุข คาดว่าต้องใช้เวลา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2021 เป็นต้นไปมากกว่า ดังนั้นในแง่ของการลงทุนแล้วถือว่าอิทธิพลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใกล้จะจบลงแล้ว ยกเว้นว่าจะเกิดการฟ้องร้องกัน ซึ่งในอดีตจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

แม้ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็ผ่านไปแล้วกว่า 70-80% ของทั้งหมด ซึ่งพอจะประเมินแนวโน้มของผลการเลือกตั้งได้ในบางมิติ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องการลงทุนหลังจากนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1. เรื่องผลการเลือกตั้ง: มีโอกาสที่จะเป็น Split Government

 

แม้ว่าไบเดนจะมีคะแนนนำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ในรูปของคณะผู้เลือกตั้งที่คะแนน 264 ต่อ 214 (ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน) แต่อย่างไรก็ดี มี 5 รัฐสำคัญที่ยังไม่สามารถบอกถึงผู้ชนะได้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเวลาการนับคะแนน หรือต้องรอผลจากการเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งอาจจะใช้เวลา 2-3 วัน ดังนั้นจากข้อมูลล่าสุดและความเป็นไปได้ เรามองว่าโอกาสที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ยังคงมีเหลืออยู่ ยกเว้นแต่เพียงว่าไบเดนจะชนะในรัฐเนวาดา ซึ่งจะทำให้คะแนนของคณะเลือกตั้งถึง 270 คะแนนก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งคราวนี้ สิ่งที่เห็นคือการครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภามีโอกาสค่อนข้างน้อย ทำให้เรามองว่ามีโอกาสมากกว่าที่จะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา (Split Government) เพราะสมาชิกวุฒิสภาคะแนนสูสีกัน แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พรรคเดโมแครตมีคะแนนนำพรรครีพับลิกันอยู่

 

2. การดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้: ติดตามนโยบายที่ทั้งสองพรรคเห็นตรงกัน

 

จากสมมติฐานที่คาดว่ามีโอกาสที่โครงสร้างของสภาจะเป็น Split Government ทำให้ประเมินว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาจะค่อนข้างยากลำบากเหมือนอย่างที่เห็นในช่วงปี 2014-2016 หรือในช่วงปีสุดท้ายของทรัมป์ ดังนั้นเราคิดว่านโยบายที่จะสามารถดำเนินการได้จริงภายหลังการเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นนโยบายที่มีจุดร่วมเดียวกันจึงจะผลักดันออกมาใช้จริงได้ โดยทั้งสองพรรคมีความคิดที่ตรงกันอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่

 

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน
2. การลดและควบคุมราคายา
3. จำกัดการเติบโตและการใช้อำนาจของจีน

 

3. การตอบสนองของตลาด: การปรับสมดุลใหม่ที่เหมาะสมกับผลการเลือกตั้ง

 

จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่ามีโอกาสที่สภาคองเกรสจะเป็นแบบ Split Government รวมถึงโอกาสที่ทรัมป์จะพลิกกลับมาชนะก็ยังคงมี ดังนั้นในแง่ของการจัดพอร์ตการลงทุนจึงต้องมีการปรับสมดุลกันใหม่ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ แต่จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ตลาดมองว่าพรรคเดโมแครตจะชนะทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและสมาชิกวุฒิสภา หรือ Blue Wave ดังนั้นราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เคยถูกกดดันจากความกังวลเรื่อง Antitrust Law ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ดี เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์ที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะอ่อนตัวลงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น เพราะเงินจะไม่ไหลออกจากความกังวลในการขึ้นภาษีของไบเดน

 

ส่วนกลุ่มธนาคารที่ฟื้นตัวจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) ที่ฟื้นตัวนั้นอาจจะมีการย่อตัวลงได้ เพราะการกู้เงินโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในโครงการลงทุนอาจทำได้ไม่เร็วและไม่มากเท่ากับที่เคยคาด อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากสถิติในอดีตจะพบว่าตลาดมีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดหวัง เนื่องจากไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ตามที่คาด ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังสำหรับการลงทุนในช่วง 4 ปีข้างหน้า

 

4. ผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์: คาดว่าตลาดสหรัฐฯ และหุ้นเทคโนโลยียังคงโดดเด่นต่อไป

 

หากพิจารณาการคาดการณ์ของตลาดก่อนหน้าที่จะทราบผลการเลือกตั้ง พบว่าตลาดคาดว่าเงินทุนจะไหลออกจากตลาดสหรัฐฯ ไปเข้าตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบจะลดลง เนื่องจากการสนับสนุนพลังงานทางเลือกมากขึ้น เพราะตลาดคาดการณ์ว่าพรรคเดโมแครตจะชนะทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและครองเสียงข้างมากในสมาชิกวุฒิสภา

 

แต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงมีแนวโน้มว่ากระแสเงินทุนอาจจะไม่ไหลเข้าเอเชียรวมถึงตลาดเกิดใหม่ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากแนวโน้มการเพิ่มภาษีในสหรัฐฯ อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก และความกังวลของ Antitrust Law ในธุรกิจด้านเทคโนโลยีลดลง ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะถัดไปนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศมากกว่า โดยพิจารณาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น

 

ในรายกลุ่มอุตสาหกรรมประเมินว่าผู้ได้รับประโยชน์ระยะสั้นคือกลุ่มเทคโนโลยี เพราะความกังวลเรื่อง Antitrust Law ลดลง รวมถึงธุรกิจน้ำมันที่มีโอกาสฟื้นตัว ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวคือธุรกิจพลังงานสะอาด สำหรับธุรกิจที่มีโอกาสได้รับเซนทิเมนต์เชิงลบคือธนาคาร เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้เพิ่มสูงอย่างที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน กลุ่มธนาคารก็ยังมีความเสี่ยงจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นจากโควิด-19 ส่วนอุตสาหกรรมอื่นเรามองว่าคงจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสั้นๆ เพราะนโยบายคงจะไม่ได้เปลี่ยนจากรัฐบาลชุดก่อน

 

5. ผลกระทบต่อไทย: ดีระยะสั้น ส่วนระยะยาวขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ด้านผลกระทบต่อประเทศไทย เรามองว่าผลกระทบมีจำกัด หากพิจารณาจากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็ยังคงดี แม้จะเห็นว่าในระยะหลังจะมีความเสี่ยงบ้างในเรื่อง GSP หรือเรื่องค่าเงิน แต่ไม่ได้กระทบภาพรวม อย่างไรก็ตาม เรามีข้อสังเกตว่า GDP ของประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวได้ดีและแรงกว่าหากทรัมป์กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย โดย GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.2% ในช่วงปี 2021-2026 ในขณะที่หากไบเดนชนะ GDP ของประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.7% โดยสาเหตุสำคัญเรามองว่าด้วยนโยบายการขึ้นภาษีของพรรคเดโมแครตนั้นจะทำให้ภาคบริการของไทยเติบโตได้น้อยกว่านโยบายของทรัมป์

 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะมีจำกัดเช่นกัน โดยระยะสั้นจะได้รับประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนในระยะกลาง-ยาวยังคงไม่ชัดเจนว่าเงินทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดแถบอาเซียนหรือไม่ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกลับมาน่าสนใจมากขึ้นอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ เราคาดว่าการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาตินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยดีขึ้นเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าทั้งด้านเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งหลังปี 2021 บนสมมติฐานว่าประเทศสามารถเปิดประเทศให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้มากขึ้น สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเกษตร และกลุ่มอาหาร 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising