×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: โพลมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ เชื่อถือได้แค่ไหน ย้อนดูกรณีพลิกโผปี 2016

19.10.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: โพลมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ เชื่อถือได้แค่ไหน ย้อนดูกรณีพลิกโผปี 2016

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เราจะพบว่าความคลาดเคลื่อนของโพลในปี 2016 ไม่ได้แตกต่างจากในอดีตนัก โดยมีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 3% ทว่านับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1972 พบความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4% (ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ fivethirtyeight.com และ realclearpolitics.com)
  • การที่ไบเดนนำทรัมป์มากกว่าค่าเฉลี่ยความคลาดเคลื่อนของโพลในอดีต ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า ไบเดนจะชนะทรัมป์ในหลายมลรัฐ เพราะยังมีความเป็นไปได้ที่โพลในปีนี้อาจผิดพลาดมากกว่าในปีที่ผ่านๆ มา ทำให้การนำที่ 7-8% จึงยังการันตีไม่ได้

สำหรับหลายๆ คน ความทรงจำที่มีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 คือภาพที่ว่านี่คือการเลือกตั้งที่พลิกล็อกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะโพลทุกสำนักชี้ตรงกันว่า ฮิลลารี คลินตัน จะชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างถล่มทลาย ดังนั้นหลายคนจึงมองว่าโพลอาจเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ และการที่ โจ ไบเดน มีคะแนนนำในโพลตอนนี้จึงไม่สามารถเอามาพยากรณ์อะไรได้เลย ภาพจำที่ว่านี้มีความจริงอยู่มากน้อยเพียงใด บทความนี้จะพาย้อนกลับไปดูข้อมูลปี 2016 กัน

 

โพลมีความคลาดเคลื่อน แต่ไม่ได้คลาดเคลื่อนกว่าที่เคยเป็น

แน่นอนว่าโพลย่อมมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะโพลเกิดจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงจำนวนหนึ่งมาสัมภาษณ์ จากนั้นก็ใช้กระบวนการทางสถิติมาช่วยทำนายว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร

 

หนึ่งในคำอธิบายที่คนมักจะพูดกันทั่วไปก็คือความแม่นยำของโพลในยุคดิจิทัลนั้นลดลงเรื่อยๆ เพราะโดยปกติแล้วการสุ่มเลือกคนมาสัมภาษณ์มักจะทำผ่านโทรศัพท์บ้าน (เพราะเลขหมายโทรศัพท์บ้านบอกได้แน่นอนว่าคนที่จะถูกสุ่มสัมภาษณ์นั้นพักอาศัยอยู่ในเขตเลือกตั้งไหน) แต่คนรุ่นใหม่มักไม่มีโทรศัพท์บ้านกันแล้ว (เพราะใช้มือถือกันเป็นหลัก) ทำให้การสุ่มกลุ่มตัวอย่างมีความคลาดเคลื่อน

 

คำอธิบายนี้มีความจริงในระดับหนึ่งที่ว่าการที่ชาวอเมริกันเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้โทรศัพท์มือถือแทนโทรศัพท์บ้าน ทำให้การสุ่มกลุ่มตัวอย่างของสำนักโพลทำได้ยากมากขึ้น แต่โพลแทบทุกสำนักก็ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของชาวอเมริกันด้วยการเสริมการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยการโทรหาโทรศัพท์มือถือและออนไลน์ (โดยไปอาศัยข้อมูลอื่นในการระบุว่าคนที่ถูกสัมภาษณ์อยู่ในเขตเลือกตั้งไหน เช่น ไปเอาข้อมูลจากรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละเมือง)

 

และถ้าเราไปดูที่ข้อมูลจริงๆ เราจะพบว่าความคลาดเคลื่อนของโพลในปี 2016 นั้นไม่ได้แตกต่างจากในอดีตเลย โดยมีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 3% คือโพลในช่วงสัปดาห์ก่อนเลือกตั้งระบุว่า คลินตันจะชนะป๊อปปูลาร์โหวต 5% แต่คลินตันชนะจริงๆ ที่ 2% (ซึ่งว่ากันตามจริงก็ต้องถือว่าโพลระบุผู้ชนะถูกคนเสียด้วยซ้ำ) และความคลาดเคลื่อนที่ 3% ก็ไม่ได้แตกต่างจากค่าเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนในอดีต (ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1972) ที่อยู่ที่ประมาณ 4% (ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ fivethirtyeight.com และ realclearpolitics.com)

 

 

แล้ว คลินตัน แพ้เพราะอะไร

ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะเขาชนะคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เหนือคลินตันอย่างฉิวเฉียดใน 3 มลรัฐทางภูมิภาคมิดเวสต์ อันได้แก่ เพนซิลเวเนีย (0.7%), มิชิแกน (0.2%) และวิสคอนซิน (0.8%) โดยที่เขาชนะคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตใน 3 มลรัฐนี้ไปแค่ไม่ถึง 80,000 เสียง

 

ซึ่งถ้าเราไปดูผลโพลของแต่ละมลรัฐที่ว่ามา เราจะพบว่าความคลาดเคลื่อนของผลโพลในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งก็ไม่ได้ผิดมากกว่าโพลของป๊อปปูลาร์โหวตในระดับชาติเท่าไร โดยที่โพลระบุว่า คลินตันมีคะแนนนำที่เพนซิลเวเนีย, มิชิแกน และวิสคอนซินที่ 3.9%, 4.1% และ 5.9% ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนใน 50 มลรัฐรวมกันอยู่ที่ราว 5% ซึ่งก็พอๆ กับค่าเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนในอดีต ไม่ได้แย่เป็นพิเศษแต่อย่างใด

 

Shy Trump Voters

อีกทฤษฎีที่คนพูดถึงกันมากคือทฤษฎีที่ว่าโพลไม่มีความแม่นยำ เพราะคนที่จะเลือกทรัมป์จำนวนหนึ่งอาจจะไม่ยอมรับกับผู้ทำโพลว่าเขาจะโหวตให้ทรัมป์ เนื่องจากเขาเป็นผู้สมัครที่ถูกตีตราว่าเป็นพวกเหยียดผิว คนที่ตั้งใจว่าจะเลือกทรัมป์อาจจะไม่กล้ายอมรับกับคนแปลกหน้าว่าจะเลือกเขา เพราะกลัวจะถูกตีตราว่าเป็นพวกเหยียดผิวไปด้วย (Shy Trump Voters) ทำให้เปอร์เซ็นต์ของคนที่เลือกทรัมป์ในโพลต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่เลือกทรัมป์ในคูหาเลือกตั้งจริงๆ

 

ซึ่งว่ากันตามจริง ทฤษฎีเรื่องผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ‘ขี้อาย’ นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทฤษฎีนี้เคยถูกนำไปใช้อธิบายว่าทำไมพรรคคอนเซอร์เวทีฟถึงพลิกกลับมาชนะพรรคเลเบอร์ในการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในปี 1992 โดยในตอนนั้นโพลระบุว่าพรรคเลเบอร์มีคะแนนนำอยู่ 1% แต่พอผลการเลือกตั้งออกมาจริงปรากฏว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะไปได้ถึง 7% ซึ่งคำอธิบายหนึ่งที่ถูกหยิบเอามาใช้ก็คือ คนที่ตั้งใจว่าจะเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟอาจไม่กล้ายอมรับกับคนแปลกหน้าว่าจะเลือกพรรคนั้น เพราะกลัวจะถูกตีตราว่าเป็นพวกใจแคบที่สนับสนุนให้รัฐสภาตัดรัฐสวัสดิการของคนจน (ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบขวาของฝ่ายอนุรักษ์นิยม) ในตอนนั้นสื่อมวลชนเรียกกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านี้ว่า Shy Tories Voters (Tories เป็นชื่อเล่นของพรรคคอนเซอร์เวทีฟอังกฤษ)

 

อย่างไรก็ดีเมื่อมีการศึกษาที่ละเอียดขึ้นเราก็พบว่าไม่มีข้อมูลใดเลยที่จะสนับสนุนทฤษฎี Shy Trump/Tories Voters เพราะถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริง เราก็ควรจะพบว่าโพลที่ทำโดยการอาศัยคนจริงๆ โทรไปหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรจะให้คะแนนทรัมป์ออกมาต่ำกว่าโพลออนไลน์หรือโพลที่ทำโดยโทรศัพท์อัตโนมัติ เพราะการทำโพลด้วยวิธีหลัง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่จำเป็นจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ และไม่จำเป็นต้องอายที่จะบอกว่าตัวเองชอบทรัมป์ แต่ผลโพลไม่ได้ออกมาแบบนั้น ในปี 2016 โพลออนไลน์/โทรศัพท์อัตโนมัติประเมินคะแนนเสียงของทรัมป์ต่ำกว่าโพลที่ใช้คนจริงๆ เสียด้วยซ้ำ (0.7%) ในขณะที่ปีปัจจุบัน การสำรวจของสำนักโพล Morning Consult เมื่อเดือนที่ผ่านมาที่สุ่มทำโพลแบบออนไลน์และโพลที่ใช้คนจริงๆ ในเวลาเดียวกัน พบว่าคะแนนเสียงของทรัมป์จากออนไลน์สูงกว่าการคุยโทรศัพท์โดยคนจริงๆ เพียงแค่ 1%

 

อีกข้อมูลหนึ่งที่เราเอามาแย้งทฤษฎี Shy Trump/Tories Voters คือทิศทางของความคลาดเคลื่อนของโพล เพราะถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริงโพลก็ควรจะประเมินคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกัน/อนุรักษนิยมต่ำกว่าผลการเลือกตั้งจริงอยู่เสมอ แต่ข้อมูลจริงที่ออกมาไม่ใช่อย่างนั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 5 ครั้งหลังสุด เราพบว่าโพลประเมินคะแนนของพรรครีพับลิกันน้อยไป 3 ครั้ง และมากไป 2 ครั้ง ในขณะที่ในการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร 10 ครั้งหลังสุดเราพบว่าโพลประเมินคะแนนของพรรคคอนเซอร์เวทีฟน้อยไป 2 ครั้ง และมากไป 8 ครั้ง

 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือคนอเมริกันเกินครึ่งเชื่อในทฤษฎี Shy Trump Voters จากการสำรวจของสำนักโพล Monmouth เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าชาวอเมริกัน 55% เชื่อในทฤษฎีนี้ และเชื่อว่าทรัมป์อาจพลิกมาเอาชนะไบเดนได้ แม้ว่าผลโพลจะให้ไบเดนนำอยู่พอสมควร

 

บทเรียนสำหรับปี 2020

สถานการณ์ของไบเดนในตอนนี้ดูดีกว่าคลินตันในปี 2016 เพราะในระดับชาติ เขานำทรัมป์อยู่ที่ประมาณ 10% และใน 3 มลรัฐมิดเวสต์ คะแนนของเขาก็นำมากกว่าโพลของสมัยคลินตันอยู่ประมาณ 2-3% (นำที่เพนซิลเวเนีย 7%, มิชิแกน 8% และวิสคอนซิน 7%) ซึ่งช่องว่างที่ไบเดนนำอยู่ตอนนี้มีระยะห่างที่สูงกว่าความคลาดเคลื่อนของโพลในอดีต ทำให้การนำของเขานั้นค่อนข้างปลอดภัยมากกว่ากรณีการนำของคลินตัน และเขายังมีคะแนนนำในอีกหลายมลรัฐที่คลินตันเคยแพ้ขาดลอย เช่น เธอเคยนำที่แอริโซนา 4%, จอร์เจีย 1% และนอร์ทแคโรไลนา 3% ทำให้ไบเดนยังมีทางเลือกในการไปสู่เป้า 270 เสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) มากกว่าแค่การเอาชนะที่ภูมิภาคมิดเวสต์เท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี การที่ไบเดนนำมากกว่าค่าเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนของโพลในอดีตก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า ไบเดนจะชนะทรัมป์ในมลรัฐที่ว่ามา เพราะยังมีความเป็นไปได้ที่โพลในปีนี้จะผิดพลาดมากกว่าในปีที่ผ่านๆ มา ทำให้การนำที่ 7-8% ก็อาจยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ

 

สุดท้ายแล้ว ไบเดนอาจพ่ายแพ้ที่มลรัฐดังกล่าวอย่างฉิวเฉียดคล้ายกับกรณีของคลินตันก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่โมเดลทางสถิติของนักสถิติชื่อดังอย่าง เนท ซิลเวอร์ ยังคงให้ความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะพลิกมาชนะที่ประมาณ 15% (โมเดลของซิลเวอร์เคยให้โอกาสชนะของทรัมป์ในปี 2016 ที่ 30%)

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X